วันที่ 16 ส.ค.2564 นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงกรณี โลกโซเชียล มีการวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องการจัดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา
โดยระบุข้อความว่า “กรณีวัคซีนไฟเซอร์ พบว่า ภรรยา ผอ.รพ. สามีหัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม ได้สิทธิ์ฉีดวัคซีน ทั้งที่ไม่ได้เป็นบุคลากรด่านหน้าอะไร คนใน รพ.ก็ไม่กล้าพูดอะไร เพราะเป็นครอบครัวผู้บังคับบัญชา วัคซีนหล่นหายตามทางก็คนในนี้แหละ” ทำให้มีผู้แชร์ต่อและแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากนั้น ว่า
กรณีดังกล่าวนี้ได้สั่งตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมี นพ.วิชาญ คิดเห็น เป็นหัวหน้าชุด ซึ่งให้รายงานสรุปเรื่องดังกล่าวภายในวัน พฤหัสบดีที่ 19 ส.ค.2564 นี้ โดยประเด็นในการสอบครั้งนี้จะต้องดูว่า ทั้ง 2 คนที่ถูกระบุนั้นปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าในการเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 จริงหรือไม่ และอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ทางแพทยสภาให้ไว้หรือไม่ คิดว่าไม่น่ามีอะไรซับซ้อน เพราะความจริงปรากฏอยู่แล้ว
สำหรับจังหวัดนครราชสีมาได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์มาประมาณ 60-70 % ของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ประมาณ 18,000 คน หรือได้รับมาประมาณ 15,000 โดส ขณะนี้ฉีดไปแล้วประมาณ 14,000โดส เหลืออีกประมาณ 1,000 โดส คาดว่าจะฉีดเสร็จภายใน 1-2 วันนี้
โดยล็อตแรกนี้เราจะจัดสรรให้กับบุคลากรด่านหน้าที่ทำงานเสี่ยง ทั้งของรัฐเอกชน รวมถึงหมอตามคลินิก ตามหลักเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนด ส่วนล็อตที่ 2 ซึ่งจะมาในอีก 2-3 วันนี้ ประมาณ 5,000 โดส จะฉีดให้กับบุคลากรที่ตกหล่นจากล็อตแรก และจะรวมถึงภาคประชาชน และวิชาชีพ รวมถึงนักเรียนต่างประเทศ เกษตรกรรวมถึงทันตแพทย์ด้วย
นายแพทย์นรินทร์รัชต์ กล่าวอีกว่า ได้สอบถามเบื้องต้นจากนายแพทย์แชมป์ สุทธิศรีศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ไปเบื้องต้นแล้ว ทาง ผอ.ยืนยันว่าบุคลากรในโรงพยาบาลที่ทำงานด่านหน้า ได้ฉีดครบทั้งหมดแล้ว และกรณีที่เป็นข่าวก็ยืนยันว่าเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตามต้องรอผลสรุปของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก่อน จึงจะลงความเห็นได้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาก็มีความผิดทางวินัย ซี่งมีบทลงโทษตามระเบียบอยู่แล้ว
ด้านนายแพทย์แชมป์ สุทธิศรีศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ กล่าว่า ทางโรงพยาบาลฯ ได้ส่งรายชื่อผู้ที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 138 คน โดยแบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 135 คน และบุคลากรทางการแพทย์ในคลินิกเอกชน จำนวน 3 คน
ในจำนวนนี้มีเภสัชกรในร้านขายยาเอกชน ที่เป็นสามีของหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค และภรรยาของตนเองที่ทำงานอยู่ในคลินิกเอกชนรวมอยู่ด้วย ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาพิจารณา เพื่อจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์มาให้ ก็ได้รับการจัดสรรวัคซีนมา จำนวน 144 โดส ซึ่งเป็นการให้มาเกิน 6 โดส จากจำนวนที่เสนอชื่อไป
ดังนั้น ทางโรงพยาบาลฯ จึงได้นำวัคซีนที่เกินไปฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฯ ที่กำลังตั้งท้อง จำนวน 2 ราย บุคลากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนใด ๆ เลยอีกจำนวน 3 ราย และบุคลากรที่จองวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็มที่ 3 แต่ยังไม่ได้ฉีดอีก 1 ราย เนื่องจากต้องไปดูแลใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันไว้ก่อน
“ยืนยันว่าได้ทำการสำรวจบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ตามเกณฑ์ที่ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาทุกประการ และได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์มาให้ตามที่เสนอชื่อไปทุกราย ส่วนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรเกินมา ก็พิจารณาฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าตามความเหมาะสมทุกราย จึงไม่ได้ไปเบียดเบียนวัคซีนของบุคลากรทางการแพทย์คนอื่นเลย
โดยบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมีอยู่ทั้งหมด 185 คน ซึ่งได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปเกือบทุกคนแล้ว เหลือเพียง 5 คน ที่รอฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในวันที่ 20 สิงหาคม 2564 นี้ ขณะเดียวกันทางโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ก็มีผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ในการดูแลกว่า 30 คน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเหน็ดเหนื่อย และเสี่ยงอันตรายมาก จึงอยากให้กำลังใจทุกคนปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ และวอนสังคมอย่านำเรื่องเท็จมาโจมตีกันจนเสียขวัญกำลังใจ ในช่วงสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้” นพ.แชมป์ กล่าวในที่สุด