วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้พิจารณาและอนุญาตให้ผู้ประกอบการส่งออกลำไยไปจีนที่ตรวจพบศัตรูพืชกักกันน้อยครั้งที่สุดสามารถส่งออกลำไยได้ตั้งแต่วันนี้เป็นไปต้นไปซึ่งมีประมาณ 56 ราย ส่วนรายที่พบมากครั้งให้มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กรมวิชาการเกษตรได้หารือกับทางการจีน
ซึ่งเป็นผลรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาด้านการเกษตรประจำกรุงปักกิ่งได้รายงานมายังนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาเกษตร เมื่อเวลา 18.00 น.ตามเวลาประเทศไทย จึงหวังว่าหลังจากนี้ผู้ประกอบการของไทยจะพัฒนาระบบการส่งออกให้เป็นไปตามที่จีนต้องการในฐานะประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย และต่อจากนี้ไป จะมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตามมาตรการที่เสนอไปยังจีนอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในภายภาคหน้า
สอดคล้องนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.)กล่าวว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้ส่งมาตรการป้องกันและนำส่งรายงานผลการปรับปรุงแก้ไขของโรงคัดบรรจุลำไยส่งออกไปจีน รวมถึงระบบควบคุมการส่งออกของไทย ให้ผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจีนได้ประเมินแล้ว โดยส่งผลแจ้งมายังไทยเมื่อ17 ส.ค. 64 ซึ่งผลการประเมินที่จีนส่งมามีผลให้ผู้ประการที่มีการตรวจพบแมลงศัตรูพืชกักกันน้อยที่สุด 50 แห่งจาก 66 แห่งที่ตรวจพบเมื่อ พ.ย. 63 ถึง ก.ค. 64 สามารถส่งออกได้ตามปกติ
ส่วนโรงคัดบรรจุ 9 แห่งที่ทางการจีนขอให้กวก.ระงับการส่งออกชั่วคราวเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาก่อนหน้านั้นล่าสุดสามารถปรับปรุงและผ่านการพิจารณาของจีนได้ 6 ราย จึงสามารถกลับมาส่งออกได้อีกครั้ง ทำให้มียอดรวมโรงคัดบรรจุที่สามามารถส่งไปจีนได้ขณะนี้ 56 ราย ทั้งนี้ขอย้ำว่าผู้ประกอบการไทยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ทางการจีนกำหนดในฐานประเทศผู้นำเข้า เพื่อรักษาตลาดลำไยของไทยในจีนไว้ต่อไป
สำหรับผลการหารือที่ทางการจีนตอบกลับมา ประกอบด้วย
1. จากการประเมินเอกสารการปรับปรุงแก้ไขที่ฝ่ายไทยเสนอมา ฝ่ายจีนเห็นว่า โรงคัดบรรจุ 6 แห่ง จาก 9 แห่ง ที่ฝ่ายไทยได้ทำการระงับเป็นการชั่วคราวด้วยตนเองในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สามารถดำเนินการเป็นไปตามข้อกำหนดในพิธีสารที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามร่วมกัน จึงอนุญาตให้ส่งออกไปจีนได้
2. โดยภาพรวมแล้ว ฝ่ายจีนเห็นชอบกับมาตรการป้องกันควบคุมศัตรูพืชในลำไยส่งออกไปจีนตามที่ไทยเสนอ แต่ยังคงต้องได้รับการทดสอบประสิทธิภาพของมาตรการในขั้นตอนการนำเข้า ดังนั้น ฝ่ายจีนจึงเห็นควรให้การส่งออกไปจีนของโรงคัดบรรจุ จำนวน 66 แห่ง สามารถดำเนินการใน 2 ขั้นตอนดังนี้
(1) ให้โรงคัดบรรจุ 50 แห่ง ที่มีความถี่ในการตรวจพบศัตรูพืช ค่อนข้างต่ำสามารถส่งออกลำไยไปจีนได้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยฝ่ายจีนจะประเมินประสิทธิภาพของมาตรการดังกล่าว ในขั้นตอนการกักกันการนำเข้าหลังจากนี้
(2) หากมาตรการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพจริง โรงคัดบรรจุที่เหลืออีก 16 แห่ง ที่มีความถี่ในการตรวจพบศัตรูพืชค่อนข้างสูง จะสามารถส่งออกลำไยไปจีนได้
ทั้งนี้ ทางฝ่ายจีนคาดหวังให้ฝ่ายไทยจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบกักกันการส่งออกผลไม้ไปจีน เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีการปนเปื้อนศัตรูพืชกักกันที่ฝ่ายจีนกังวล
สำหรับมาตรการที่กรมวิชาการเกษตรเสนอทางฝ่ายจีนไปมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) การปรับปรุงการจัดการที่สวนและการเก็บเกี่ยวให้มีการป้องกันกำจัดและคัดแยกลำไยที่มีเพลี้ยแป้งปะปนออก
(2) การปรับปรุงการจัดการที่โรงคัดบรรจุ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ (QC) ทำหน้าที่ในการตรวจสอบศัตรูพืช มีการกำหนดจุดสุ่มตรวจศัตรูพืชเพิ่มขึ้น (รับสินค้าและคัดแยก/ ก่อนรม/ หลังรม) การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น หลอดไฟส่องสว่างและอุปกรณ์ตรวจสอบศัตรูพืช ติดภาพศัตรูพืชที่ต้องคัดแยกหรือปฏิเสธการรับวัตถุดิบ รวมถึงมีพื้นที่ตรวจสอบศัตรูพืช เป็นต้น
(3) การปรับปรุงการตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary certificate; PC) โดยการเพิ่มอัตราสุ่มจากเดิมร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 10 ในกลุ่มโรงคัดบรรจุ 66 ราย หากมีการตรวจพบศัตรูพืชกักกันครั้งที่ 1 จะระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเป็นระยะเวลา 7 วัน และหากมีการตรวจพบศัตรูพืชกักกันครั้งที่ 2 จะระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับโรงคัดบรรจุที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 66 ราย กรมวิชาการเกษตรจะเพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสินค้าเป็นระดับในอัตราร้อยละ 3, 5 และ 7 อย่างต่อเนื่อง