นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประชุมหารือร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ,กระทรวงสาธารณสุข ,กระทรวงแรงงาน ,กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) ในโรงงานที่ยังคงพบ ผู้ติดเชื้อโควิดต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งต่อการพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จากการส่งออก การบริโภค การจ้างงานและธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศ โดยจะดำเนินการร่วมกันดังนี้
1.ปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ภายในสถานประกอบการ ให้เหมาะสมกับโรงงานทุกขนาด พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ
2.สร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำการทำ Bubble and Seal ในรูปแบบ Coaching คือคอยให้คำแนะนำแนวทางและให้ความช่วยเหลือ ทั้งรูปแบบ Online และ Offline เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้ พร้อมกันทั่วประเทศ
3.ปรับเกณฑ์ Good Factory Practice : GFP เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก การรถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน
4.เร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่างๆ ในเชิงรุก อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้จากฐานข้อมูลที่ได้รับจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรงงานที่เข้าประเมิน TSC แล้ว มีแนวโน้มการติดเชื้อโควิดน้อยกว่าโรงงานที่ไม่ได้เข้าประเมินถึง 4.5 เท่า ดังนั้นจึงต้องการให้โรงงานทุกขนาดได้เข้าประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงาน
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ CMC : Crisis Management Center กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 17 สิงหาคม 2564 พบการระบาดของโรงงานทั้งสิ้น 749 แห่ง มีผู้ติดเชื้อจำนวน 53,135 คน ครอบคลุมพื้นที่ 62 จังหวัด สำหรับ 5 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี 4,597 คน ฉะเชิงเทรา 3,648 คน สระบุรี 3,647 คน สมุทรสาคร 3,571 คน และเพชรบูรณ์ 3,487 คน
ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 136 โรงงาน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 103 โรงงาน อุตสาหกรรมโลหะ 65 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 64 โรงงาน และอุตสาหกรรมพลาสติก 57 โรงงาน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ยังคงมีอย่างต่อเนื่องซึ่งปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อใหม่ในโรงงานเพิ่มวันละประมาณ 13 แห่ง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละกว่า 800 คน หรือประมาณ 4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของประเทศ โดยแนวโน้มการระบาดในช่วงนี้จะไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ แต่จะกระจายตัวไปในหลายโรงงาน หลายจังหวัดและพบผู้ติดเชื้อเป็นหลักสิบ
ขณะที่ผู้ติดเชื้อในช่วงเมษายน – 17 สิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้หายป่วยและกลับมาทำงานได้แล้วจำนวนมาก เช่น ใน 10 ลำดับโรงงานที่พบการระบาดของเชื้อโควิดมากที่สุด มีผู้ติดเชื้อรวมจำนวน 16,798 คน พบแรงงานหายป่วยแล้ว 12,954 คน หรือคิดเป็น 77% ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ติดเชื้อในโรงงานจะใช้เวลารักษาตัว 14-28 วัน ก็จะกลับมาทำงานได้ เนื่องจาก อยู่ในวัยหนุ่มสาว สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีบางส่วนได้รับการฉีดวัคซีนด้วยแล้ว สำหรับข้อมูล โดยละเอียดกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการรายงานฯ ให้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ครอบคลุมทุกมิติ และพร้อมเชื่อมต่อข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ในข้อมูลร่วมกัน
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีโรงงานเข้าประเมินออนไลน์ใน TSC แล้วจำนวน 20,032 แห่ง คิดเป็น 31% จากโรงงานทุกขนาด 64,038 แห่ง โดยรวมพบโรงงานผ่านเกณฑ์ จำนวน 13,235 แห่ง หรือคิดเป็น 66%และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 6,797 แห่ง หรือคิดเป็น 34% ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับเมื่อเข้าประเมินตนเองในแฟลตฟอร์ม TSC คือ เราจะทราบทันทีว่า สิ่งที่โรงงานดำเนินการอยู่ ผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ กรณีไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนใด ซึ่งการดำเนินการยกระดับให้ผ่านเกณฑ์ TSC ควบคู่ไปกับ การทำ Bubble and Seal จะเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ