"เอสซีจี"ชี้ 5 เทรนด์ธุรกิจใหม่รับ Now Normal

19 ส.ค. 2564 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2564 | 18:24 น.

เอสซีจีเผย 5 เทรนด์ธุรกิจใหม่รับกระแส Now Normal หลังโควิดสายพันธุ์เดลตาต้องอยู่กับโลกไปอีกนาน แนะใช้นวัตกรรมคู่กับความเร็วปรับตัวสร้างโอกาสในภาวะวิกฤต

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี  เปิดเผยว่า โควิดสายพันธุ์เดลตาทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไป แม้กระทั่งคำว่าวิถีปกติใหม่ (New Normal) ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็น Now Normal หรือเรียกว่า การที่ต้องอยู่กับโรคโควิด-19 (Covid-19)ให้ได้

ทั้งนี้ คำว่า Now Normal ได้ก่อให้เกิดแนวโน้มทางธุรกิจที่สำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.การนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง หรือปรับใช้กับธุรกิจ โดยการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจด้วยดิจิทัลควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด

,2 การนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต (Well being) เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม โดยบ้านจะไม่ใช่แค่เป็นเพียงที่อยู่อาศัยให้สะดวกสบาย แต่จะต้องรองรับการทำงานได้ด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสของภาคธุรกิจในการเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำรหับพักผ่อน ทำงาน หรือแม้กระทั่งระบบระบายอากาศ ตอบสนองการใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น

“แม้กระทั่งห้องน้ำที่ปัจจุบันจะไม่เห็นระบบมือสัมผัส  ทุกอย่างใช้เซ็นเซอร์  หรือนำระบบอัจฉริยะมาใช้ควบคุมการทำงาน”

3.การให้บริการด้านสุขภาพ โดยจะต้องมองทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไปทั้งการรักษา และการป้องกัน ทำอย่างไรให้ประชาชนไปโรงพยาบาลน้อยที่สุดด้วยการป้องกันสุขภาพเป็นอย่างดี ซึ่งจะต้องมีการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ เช่น ปัจจุบันเทคโนโลยี mRNA โดยโรคโควิดได้ช่วยลดเรื่องระยะเวลาในการพัฒนา รวมถึงการทดลองใช้ จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 10-15 ปี แต่ปัจจุบันใช้เวลา 1-2 ปีก็สามารถเห็นผลได้จริง 

,4.การทำเกษตรสมัยใหม่ หรือการเกษตรแบบปรานีต ที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าปริมาณ แต่ตรงตามความต้องการของตลาดด้วยการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ทั้งเรื่องการใช้ประโยชน์จากน้ำ พันธุ์พืช การใช้เซนเซอร์ โดยเรื่องดังกล่าวยังสามารถพัฒนาไปได้อีกมาก และต่อยอดไปถึงการนำแพลตฟอร์มทางดิจิทัลมาจับคู่ระหว่างอุปสงค์และอุปทาน 

และ 5. Environment Social Government : ESG  โดย E : สิ่งแวดล้อม ทุกภาคธุรกิจจะถูกปรับเปลี่ยนโดยอัตโนมัติให้เข้าสู่การใช้พลังงานสะอาด ,S : ความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนระดับล่าง และระดับกลางจะมีมากขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยลดช่องว่างดังกล่าว และ G : การบริหารจัดการองค์กร  พนักงานและซัพพายเชนที่เกี่ยวข้อง  คนรุ่นใหม่เข้ามาแทนคนรุ่นเก่า  โดยจะต้องทำอย่างไรให้อยู่ได้  ในขณะเดียวกันมีการพูดถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน  การบริหารจัดการของเสีย  การรีไซเคิล เรื่องเหล่านี้สำคัญมาก 

“สรุป สายพันธุ์เดลตาทำให้โควิดจะอยู่กับเราไปอีกนาน  ส่งผลทำให้คำว่านิวนอร์มอลเปลี่ยนไปเป็นนาวนอร์มอล หรือต้องอยู่กับโรคให้ได้  การปรับตัววันนี้ต้องมั่นใจว่าเป็นการปรับตัวต่อเนื่อง  มีการนำเทคโนโลยี  รวมถึงนวัตกรรมมาใช้  และความรวดเร็วในการพัฒนา การปรับตัวจะเป็นเรื่องที่สำคัญ ต่อไปต้องพูดถึงนวัตกรรมจะต้องพูดถึงเรื่องความเร็วเสมอว่าสามารถทำได้เร็วขนาดไหน ธุรกิจไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กจะอยู่ได้  หากต้องการอยู่ให้ได้ ต้องเป็นธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว  ต้องสามารถสร้างโอกาสในภาวะวิกฤตที่เผชิญอยู่ให้ได้”