นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอเตรียมปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเพื่อรองรับเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงกำลังหารือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในการร่วมมือทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอวกาศเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตดาวเทียมของโลกในอนาคต เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล ความต้องการชิป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สูงขึ้น และต่อไปเมื่อเทคโนโลยี 5G เข้ามาทุกๆเทคโนโลยีจะเชื่อมโยงกันไปสุ่ระบบอัจฉริยะหรือสมาร์ทต่างๆมากขึ้น ดังนั้น จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมๆไม่ได้ต้องยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ยากขึ้น ซึ่งนโยบายก็ต้องปรับไม่ให้ตกขบวนเพื่อดึงการลงทุนที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูง
ทั้งนี้ ภาพรวมการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในปี 64 คาดว่าจะมีมูลค่าระดับ 5 แสนล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานสะอาด และเครื่องมือแพทย์ ฯลฯ ดังนั้นบีโอไอจึงเตรียมปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมประเภทกิจการดังกล่าว ซึ่งหากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศของไทยดีขึ้นเชื่อว่าในอีก 2 ปีการขอรับส่งเสริมการลงทุนจะกลับสู่ภาวะปกติที่ระดับ 7 แสนล้านบาทได้
การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ครึ่งปีแรกมีจำนวน 113 โครงการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8% มูลค่า 5.72 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% ซึ่งขณะนี้สัญญาณการลงทุนยังคงมีมาต่อเนื่องโดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ที่สรุปแล้ว 10 รายเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นและจีนโดยเป็นกิจการขนาดระดับ 1 พันล้านบาท โดยคาดว่าการลงทุนในกลุ่มนี้ในปี 2564 จะสู่ระดับ 1 แสนล้านบาทแน่นอน
“ยังมีนักลงทุนรายอื่นๆอีกที่กำลังหารือ โดยยอมรับว่าสิ่งที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นอิเล็กทรอนิกส์ระดับไมโคร สิทธิประโยชน์ด้านภาษีฯที่มีอยู่ไม่จูงใจให้เข้ามา ดังนั้น บีโอไอจึงกำลังดูว่าจะปรับสิทธิประโยชน์เพิ่ม และเพิ่มประเภทกิจการให้ครอบคลุมเพื่อดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอให้บอร์ดบีโอไอพิจารณาได้ เร็วๆนี้ ซึ่งยอมรับว่าการออกไปโรดโชว์ในระยะต่อไปคงไม่ได้มองเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์ฯแต่ต้องมองเรื่องอื่นๆประกอบด้วยเช่น การไปคู่กับสถาบันการศึกษาเพื่อเสนอให้เป็นแผนการผลิตแรงงานที่จะรองรับการลงทุนมากขึ้น เป็นต้น”
นายชนินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า บีโอไออยู่ระหว่างพิจารณาที่จะผลักดันการทำแพคเกจส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตดาวเทียมของโลกในอนาคตร่วม GISTDA เนื่องจากพบว่าอุตสาหกรรมดาวเทียมที่อยู่เหนือพื้นโลกระยะ 200 กิโลเมตรกำลังได้รับความสนใจ และจะถูกนำมาใช้งานเพิ่มขึ้นในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ดังนั้นไทยซึ่งมีฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆรองรับก็น่าจะขยับไปสู่ดาวเทียม อากาศยานในระยะยาวได้ ที่สำคัญยังสอดรับกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กิจการอวกาศ พ.ศ..ของไทย โดยหากเป็นไปได้จะพยายามให้เกิดเป็นรูปธรรมในปีนี้ เพื่อที่จะนำไปชักชวนการลงทุนได้ในปี 2565 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอยู่ที่บอร์ดบีโอไอว่าจะเห็นด้วยหรือไม่
“เวลานี้บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอวกาศ และให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของไทยเองก็มีศักยภาพ โดยถือเป็น Tech Startup ของไทยที่บีโอไอเน้นส่งเสริมฯเพื่อให้ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และทางบริษัทเองก็มีเครือข่ายต่างชาติที่จะดึงเข้ามา เพื่อร่วมมือกันที่จะใช้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน โดยบีโอไอเองก็มองเรื่องดังกล่าวไว้ในระยะยาว”