นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ "ทิศทางพลังงานไทยกับเป้าหมายลดการปล่อย CO2" ในงานสัมนาทิศทางพลังงานไทยสู่เป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ว่า ในเดือนกันยายนนี้จะมีความชัดเจนของมาตรการสนับสนุนทั้งในเรื่องมาตรการภาษีและมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ภาษี เกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV)ในสัดส่วน 30% ภายในปี ค.ศ. 2030
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยจูงใจทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้รถให้มีความสนใจในการใช้รถ EV มากขึ้น โดยการออกมาตรการมาสนับสนุน EV ดังกล่าวจะเป็นการนำร่องออกมาโดยไม่ต้องรอให้ตลาดมีความต้องการที่ชัดเจนมากแต่มาตรการที่ออกมาจะจูงใจ ควบคู่ไปกับการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้มีความพร้อมรองรับรถ EV มากขึ้น
"ในส่วนของรถ EV จะต้องดำเนินการตามนโยบาย 30@30 คือ การผลิตในประเทสไทย 30% ซึ่งต้องเป็นยานยนต์ไฟฟ้าสะอาดในปี 2030 หรือ 9 ปีหลังจากนี้ โดยเป็นการสร้างความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาคของประเทศไทยต่อไป สถานประจุไฟฟ้าจะต้องมีมากขึ้น ทั้งที่บ้าน ที่สาธารณะ ต้องมีการลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรรี่ ชิ้นส่วนแบตเตอรี่ มีการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว เพราะเป็นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าและมีต้นทุนที่สูง"
สำหรับทิศทางการพัฒนาพลังงานสะอาดและการลดการปล่อยคาร์บอนไดร์ออกไซด์ (CO2) ที่สอดคล้องกับทิศทางของนานาชาตินั้น ล่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบ กรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 สำหรับแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน อาทิ
1.มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50%
2.มีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ให้มีการใช้มากขึ้นตามนโยบายตามนโยบาย 30@30
3.ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มากกว่า 30% โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน
4.ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E (Decarbonization: การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า) ทั้งนี้เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในช่วงดังกล่าว (2065 – 2070) ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน
“เรื่องดังกล่าวเป็นกระแสสังคมโลกที่ไทยจะต้องดำเนินการ เพราะทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ดำเนินการ ก็จะต้องมีมาตรการต่างๆเร่งรัดส่งเสริม ทั้งมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษี โดยมองว่านอกจากเป้นการลดความเสี่ยง ยังเป็นการสร้างโอกาสในการพลิกโฉม หรือต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีความหลากหลายเรื่องของเชื้อเพลิง และพลังงานสะอาด ทั้งชีวมวล ชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และการนำเข้าพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน”