"สุพัฒนพงษ์" เดินหน้ามุ่งพลังงานสะอาดลดภาระเศรษฐกิจ 6-7 แสนล้านต่อปี

27 ส.ค. 2564 | 12:22 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2564 | 19:21 น.

สุพัฒนพงษ์เดินหน้าแผนพลังงานแห่งชาติของไทยต้องมุ่งสู่พลังงานสะอาดหวังลดภาระเศรษฐกิจ 6-7 แสนล้านต่อปีในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดโลกร้อนตามสัญญา COP 21

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ "ทิศทางพลังงานไทยกับเป้าหมายลดการปล่อย CO2" ในงานสัมนาทิศทางพลังงานไทยสู่เป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายพลังงานของไทยไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้นในแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนตามข้อตกลงภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ที่กรุงปารีส หรือ Cop21 ซึ่งไทยกำหนดจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศา ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 จึงได้ประกาศกรอบแผนพลังงานแห่งชาติที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดเป็นหลัก โดยตั้งเป้าจะลดก๊าซคาร์บอนฯให้เป็น 0% หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2565-2570
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการลดภาระทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องนำไปใช้เพื่อลดก๊าซคาร์บอนฯในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 350 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นภาระประมาณ 6-7 แสนล้านบาทต่อปีที่ต้องใช้ในการลดก๊าซคาร์บอนฯลง  โดยภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยคาร์บอนฯมากสุด 250 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจากนโยบายดังกล่าวคาดว่าภาคพลังงานไทยจะลดคาร์บอนฯเหลือเพียง 90 ล้านตันต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้าได้

สำหรับแนวทางลดคาร์บอนในภายพลังงาน มี 4 ด้าน ได้แก่ 
1.มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50%  
2.มีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ให้มีการใช้มากขึ้นตามนโยบายตามนโยบาย 30@30
3.ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มากกว่า 30% โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน
4.ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E (Decarbonization: การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า) ทั้งนี้เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในช่วงดังกล่าว (2065 – 2070) ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน  
“เรื่องดังกล่าวเป็นกระแสสังคมโลกที่ไทยจะต้องดำเนินการ  เพราะทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ดำเนินการ ก็จะต้องมีมาตรการต่างๆเร่งรัดส่งเสริม ทั้งมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษี  โดยมองว่านอกจากเป้นการลดความเสี่ยง ยังเป็นการสร้างโอกาสในการพลิกโฉม  หรือต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ  มีความหลากหลายเรื่องของเชื้อเพลิง  และพลังงานสะอาด  ทั้งชีวมวล  ชีวภาพ  พลังงานแสงอาทิตย์  พลังงานน้ำ และการนำเข้าพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เดินหน้าการผลิตพลังงานทดแทนตามเป้าหมายให้มากกว่า 50% แล้ว โดยจะเดินต่อเนื่องจากที่ทำมาแล้วในแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ได้ส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าเดือนตุลาคม 64 จะทราบผลประมูลที่ชัดเจน รวมทั้งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งต้องมีการปรับระบบสายส่งไฟฟ้าให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น 
"แนวทางดังกล่าวยังถือเป็นโอกาสพลิกโฉมภาคอุตสหกรรมไปสู่อุตสหกรรมใหม่ๆ ที่เน้นเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสหกรรมรถ EV ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุน และรักษาฐานการผลิตรถของประเทศไว้ นอกจากนี้สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งเกษตรกรได้ประโยชน์ในการปลูกพืชผลและต่อไปไทยจะก้าวไปสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศได้อีกด้วย"