สำหรับตอนสุดท้ายนี้ จะเน้นการนำเอาประสบการณ์ในการกำกับการแข่งขันจากต่างประเทศมาอธิบายและถอดบทเรียนสำหรับการกำกับการแข่งขันในธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
ยกตัวอย่างประเทศจีน มีแนวทางการกำกับการแข่งขันในธุรกิจประเภทนี้ โดยสำนักป้องกันการผูกขาด (Anti-Monopoly Bureau) ภายใต้องค์กรกำกับดูแลการบริหารงานตลาดของรัฐ (State Administration for Market Regulation : SAMR) ได้ออกแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการผูกขาดในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจแพลตฟอร์มโดยให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลพฤติกรรมของธุรกิจแพลตฟอร์มที่จำกัดการแข่งขันสำคัญ ๆ คือ การกําหนดราคาร่วมกันโดยใช่อัลกอริทึมในแพลตฟอร์มรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการตกลงร่วมกัน (Cartel) ทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง การกำหนดข้อตกลงในลักษณะ Hub-and-Spoke ซึ่งเป็นการตกลงรวมกันในแนวดิ่งระหว่างต้นนํ้ากับปลายนํ้าของธุรกิจเพื่อทำให้ลดการแข่งขันในแนวนอน เช่น การแบ่งพื้นที่ขาย ข้อตกลงที่เป็นการจำกัดสิทธิ และการกำหนดให้คู่ค้าต้องจำหน่ายสินค้าหรือบริการในราคาที่กำหนด
นอกจากนี้ SAMR ยังได้ปรับปรุงแนวทางการพิจารณาผู้มีอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจนี้โดยมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมได้แก่ ความสามารถในการควบคุมตลาด ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะของธุรกิจนี้ที่มีผลกระทบภายนอกจากเครือข่าย เงื่อนไขข้อจำกัดทางการเงินและทางเทคโนโลยี และอุปสรรคแก่คู่แข่งในการเข้าถึงและนำเสนอบริการแก่ผู้ใช้แพลตฟอร์ม (Lock-in effect)
ทั้งนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า SAMR ยังคงให้ความสำคัญกับการกำกับเชิงพฤติกรรมเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมจำกัดการแข่งขันในตลาดของประเทศจีนที่ถูกนำมาใช้อย่างมากในระยะหลังนี้
สำหรับประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจ ร้านอาหารขยายตัวอย่างมากและเพิ่มความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของผู้บริโภคและการประกอบการร้านอาหารในช่วงที่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 พร้อมทั้ง คณะกรรมการการแข่งขันทาง การค้าเห็นว่าผู้ประกอบการแพลตฟอร์มนี้ปรับขึ้นค่าบริการจากร้านค้า หลังความนิยมใช้บริการเพิ่มขึ้น และพฤติกรรมจำกัดการแข่งขันมีแนวโน้ม ปรากฏชัดเจนและเพิ่มจำนวนมากขึ้น
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจึงได้ออกประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง “แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับการแข่งขันในธุรกิจแพลตฟอร์มประเภทนี้ โดยในประกาศกำหนดการปฏิบัติทาง การค้าของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็น การกระทำอันเป็นผลให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่สำคัญ ได้แก่
1.การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิ (Exclusive Dealing) ของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่มีลักษณะเป็นการบังคับ โดยการห้ามจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารรายอื่น โดยไม่มีเหตุผลอัน สมควร 2.การเรียกเก็บค่าใช้ จ่ายค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่เป็นธรรม โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารทราบล่วงหน้าถึงเหตุผลและความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่เหมาะสม
3. การใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การแทรกแซง หรือจำกัดความเป็นอิสระในการกำหนดราคา การกำหนดเงื่อนไขบังคับด้านราคาที่ต้องขายเท่ากันในทุกช่องทาง การจำหน่าย การประวิงเวลาจ่ายค่าสินค้าตามระยะเวลาที่กำหนด และการปฏิเสธการทำการค้า ในระหว่างระยะเวลาของสัญญา การยกเลิกสัญญาอันเนื่องมาจากเหตุผลต่างๆ โดยไม่มีเหตุผลสมควร เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ายังอยู่ระหว่างศึกษาตลาดธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมจำกัดการแข่งขันทางการค้า เพื่อสามารถเสนอให้กรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาออกประกาศแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ประเภทนั้นต่อไป
ดังนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้ว่าความก้าวหน้าในเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการดำเนินชีวิตและธุรกิจอย่างมากและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล แต่พฤติกรรมจำกัดแข่งขันทางการค้าในธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม จึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ พร้อมทั้งยังต้องการแนวทางกำกับการแข่งขันที่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าผลประโยชน์ที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล จะไม่ถูกลดทอนจากการใช้อำนาจผูกขาด และผลประโยชน์ดังกล่าวจะกระจายไปสู่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3709 วันที่ 29 ส.ค.-1 ก.ย. 2564