นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้าเปิดเผยว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้ยื่นข้อเสนอต่อเลขาธิการอาเซียนกำหนดให้เป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งต่อไป ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการเอาเปรียบผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดกลางและเล็กของไทย จากโดยใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี “อัลกอริทึม” ซึ่งยักษ์ใหญ่หลายรายในต่างประเทศนำมาใช้ทั้งการตรวจสอบราคาของแพลตฟอร์มคู่แข่งนำไปสู่การตั้งราคาที่ถูกกว่าของสินค้าที่อยู่บนแฟลตฟอร์มของตัวเองโดยอัตโนมัติ รวมถึงยังใช้เป็นเครื่องมือในการลดการมองเห็นโพสต์ต่าง ๆที่มีลักษณะในเชิงพาณิชย์ของคู่แข่งในตลาด ซึ่งส่งผลต่อการวางกลยุทธ์ด้านราคาของผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้เทคโนยีเหล่านี้ได้
การเข้ามาครองตลาดของแพลตฟอร์มต่างชาติมีผลต่อแพลตฟอร์มที่เป็นของคนไทย ที่มีการใช้บริการลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และกระทบต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยเช่นกัน ดังนั้นในการสกัดกั้นการถูกแพลตฟอร์มออนไลน์เอาเปรียบจึงควรเป็นในลักษณะของความร่วมมือ และกติกาที่ควรนำมาใช้ควรหยิบยกจากประเทศใหญ่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จ หรือมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมแล้ว เช่น ในสหภาพยุโรป (EU) ที่มีกฎระเบียบ Platform to Business Regulation ร่างกฎหมาย Digital Services Act (DSA) และร่างกฎหมาย Digital Market Act (DMA) ซึ่งมุ่งเน้นสภาพแวดล้อมด้านธุรกิจออนไลน์ให้เป็นไปอย่างยุติธรรมทั้งสำหรับภาคธุรกิจและผู้บริโภค หรือประเทศเกาหลีใต้ ที่เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม10%ในสินค้าและบริการที่ซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 ประเทศอินเดีย ที่เริ่มจัดเก็บภาษีรายได้ 2% จากมูลค่าการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 โดยเก็บเฉพาะผู้ขายที่อยู่หรือมี IP Address ในประเทศอินเดียเท่านั้น อย่างไรก็ดี คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้ยื่นข้อเสนอแนวทางดังกล่าวต่อเลขาธิการอาเซียนให้กำหนดเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อผลักดันมุมมองเรื่องนี้เข้าไปในวาระสำคัญที่อาเซียนต้องร่วมมือกันเร่งแก้ปัญหา เพราะถ้าหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน ๆ หมายถึงความยิ่งใหญ่ของธุรกิจต่างชาติที่จะคืบคลานและยิ่งทวีอำนาจในที่สุด
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) พบว่าประเทศไทยมีการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นอันดับที่ 16 ของโลก และยังครองแชมป์ที่ 1 ในอาเซียน โดยมีมูลค่ารวมกว่า 46.51% ของธุรกิจเมื่อเทียบกับธุรกิจดั้งเดิม ตัวเลขเหล่านี้จะสะท้อนอัตราการใช้จ่ายที่สูงของคนไทย แต่เมื่อพิจารณาในด้านรายได้ที่เข้าสู่กระเป๋าของผู้ประกอบการกลับพบว่าในแพลตฟอร์มเหล่านั้นมีสินค้าของผู้ค้าไทยเพียง 23% ในขณะที่สินค้าส่วนใหญ่ที่ขายบนแพลตฟอร์มเป็นของต่างชาติถึง 77% เป็นการทำให้เงินไหลออกนอกประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของผู้ประกอบการที่ยิ่งมีมากจึงหมายถึงโอกาสในการแข่งขันที่มากขึ้นตามไปด้วย แต่สิ่งที่สวนทางคือมีผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวให้เท่าทันกับออนไลน์ได้เพียง 20% เท่านั้น หรือแม้แต่กระทั่งช่องทางการค้าออนไลน์ที่พัฒนาโดยคนไทยก็กำลังหายไปอันเนื่องมาจากความนิยมที่ลดลง