พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ได้มอบหมายให้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในพื้นที่ จ.เพชรบุรี บริเวณคลองระบายน้ำ D9 ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
โดยเฉพาะ จ.เพชรบุรี ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักในช่วงปี 2559 – 2561 ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เร่งด่วน ภายใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ใช้แนวทางระบายน้ำออกทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด ซึ่งในฤดูฝนปี 2563
ที่ผ่านมาตัวเมืองเพชรบุรีไม่ได้รับกระทบจากน้ำท่วมแต่อย่างใด โดยกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำผ่านคลองระบายน้ำ D9 ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างฯ ช่วยตัดมวลน้ำส่วนหนึ่งจากคลองชลประทานสาย 3 และหน่วงน้ำหน้าเขื่อนเพชร เมื่อน้ำถูกผันลัดเข้าสู่คลองระบายน้ำ D9 จะไหลลงทะเลอ่าวไทย ระยะทางน้ำประมาณ 20 กิโลเมตร
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการซักซ้อม 10 มาตรการรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก หรือ หากมี "พายุ" จรเข้ามาในพื้นที่ ทั้งแผนบริหารการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งปัจจุบันพบว่าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งในลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบฯ ยังสามารถรองรับน้ำฝนได้อีกมาก ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 434 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 61% ของความจุ ส่วนเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 208 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 53% ของความจุ
เร่งแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และสร้างความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำท้องถิ่น เพื่อแจ้งเตือน เฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำล่วงหน้า ที่จะช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จะติดตามประเมินสถานการณ์ฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบฯ เพื่อประสานแจ้งหน่วยงานระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วย ซึ่งคาดว่าในเดือนกันยายนจะมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน สทนช.จะเร่งรัดแผนงานโครงการปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 และคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา RMC1 พร้อมอาคารประกอบ ซึ่งช่วยเพิ่มการระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยรวมทั้งสิ้น 550 ลบ.ม./วินาที นอกเหนือจากการใช้คลอง D9 เพียงเส้นทางเดียวที่อาจมีข้อจำกัดที่อาจระบายน้ำไม่ทันเมื่อมีปริมาณน้ำมาก ซึ่งกรมชลประทานมีแผนดำเนินการในปี 2566-2569 เบื้องต้นอยู่ในช่วงของการสำรวจออกแบบ ถ้าดำเนินการคลอง D1 ได้ ก็จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของจังหวัดเพชรบุรีได้อย่างยั่งยืน
รวมถึงงานเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน และเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ ซึ่งสอดคล้องกับผลโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อย่างยั่งยืน อาทิ ต้องเพิ่มช่องทางระบายน้ำเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่ทะเล ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพิ่มความจุและปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นเขื่อนแก่งกระจาน ติดตั้งสถานีอัตโนมัติวัดน้ำฝนและน้ำท่าในพื้นที่ต้นน้ำ ใช้มาตรการผังเมือง เป็นต้น
“จากผลการศึกษาพบว่าแผนงาน/โครงการในแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี มีทั้งสิ้น 2,428 โครงการ แบ่งเป็น เป็นแผนงาน/โครงการที่ดำเนินการแล้วระหว่างปี 2561-2564 รวม 685 โครงการ เก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 142 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 61,275 ไร่ ยังคงเหลือที่จะต้องดำเนินการในระยะถัดไประหว่างปี 2565-2580 อีก 1,743 โครงการ เก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 455 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 360,000 ไร่ โดยมีเป้าหมายสำคัญ อาทิ การพัฒนาด้านการจัดการน้ำอุปโภค-บริโภค เพิ่มพื้นที่ชลประทานและพื้นที่เกษตรน้ำฝน อนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ รวมถึงการพัฒนาด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย และป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจที่รอบปีการเกิดซ้ำ 25 ปีด้วยเช่นกัน”ดร.สมเกียรติ กล่าว