นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) ปรับปรุงการบังคับใช้มาตรการบางมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันที่มีแนวโน้มคลี่คลายอย่างต่อเนื่อง กรมการขนส่งทางบกจึงได้มีคำสั่งปรับปรุงมาตรการการให้บริการทั้งในส่วนของการให้บริการรถโดยสารสาธารณะและการขนส่งสินค้า ให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าวและสอดคล้องตามสถานการณ์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง โดยให้ผู้ประกอบการขนส่งปฏิบัติ ดังนี้
สำหรับการให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ผ่อนคลายล็อกดาวน์ให้สามารถจัดบริการเดินทางข้ามจังหวัดและออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่นได้ และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนที่นั่งและที่ยืน ทั้งนี้ สำหรับการให้บริการรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเส้นทางระหว่างจังหวัดที่มีต้นทางหรือปลายทางกรุงเทพมหานคร (หมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง หมวด 4 กรุงเทพมหานคร หมวด 2 หมวด 3) และรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีท้องที่ทำการขนส่งทั่วราชอาณาจักร ยังคงงดให้บริการตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน (จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564)
ส่วนการให้บริการของรถโดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 1 หมวด 4 และรถโดยสารไม่ประจำทาง ในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด โดยการให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทยังต้องดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคอย่างเคร่งครัด อาทิ ต้องมีมาตรการคัดกรองผู้โดยสาร ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง จัดเก็บข้อมูลของผู้โดยสารเพื่อประโยชน์ในการติดตามสอบถาม เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ยังคงให้งดการขนส่งสินค้า ระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน (จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564) เว้นแต่บุคคลที่มีความจำเป็นในการขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์สิ่งพิมพ์ หรือสินค้า เพื่อการส่งออกหรือนำเข้า สามารถขนส่งสินค้าได้โดยจัดเตรียมใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวพนักงานหรือหนังสือรับรองการทำงาน และเอกสารรับรองความจำเป็นเกี่ยวกับสินค้า และการเดินทางของผู้ขนส่งสินค้าเพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด