นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) พร้อมด้วยนาง ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงข่าวหนุนมาตรการ “คลายล็อกดาวน์” ที่จะเกิดขึ้นใน 1 ก.ย.นี้
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า ขอบคุณศบค.ที่มีการคลายล็อกดาวน์ให้ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านนวด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ กลับมาให้บริการได้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีมาตรการบางอย่างที่อาจต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ การกำหนดให้นั่งทานในร้านอาหารได้ 50% หรือ 70% รวมถึงการสั่งงดจำหน่ายแอลกอฮอล์ในร้านอาหารและควบคุมเวลาปิดอย่างต่อเนื่องนั้น อาจไม่เหมาะสมกับลักษณะของบางร้าน และอาจสร้างความลำบากให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่มาใช้บริการได้ อีกทั้งมาตรการเหล่านี้ไม่ได้ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม
นอกจากนี้ การล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างที่อยู่นอกเหนือกลุ่มธุรกิจดังกล่าวอีกจำนวนมาก ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมานานนับปี และยังเข้าไม่ถึงการเยียวยาของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นฟิตเนส สปา สถานบันเทิง ออแกไนซ์จัดงาน และกลุ่มธุรกิจกลางคืน เป็นต้น จึงอยากให้ ศบค.พิจารณาถึงความเดือดร้อนของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ และเตรียมมาตรการคลายล็อกดาวน์ที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน
รวมทั้งอนุญาตให้ประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยหนึ่งเข็ม สามารถเข้าใช้บริการได้ด้วย เพื่อทำให้ธุรกิจภาคกลางวันและกลางคืนกลับมาเดินหน้าต่อได้เหมือนเดิม ก่อนที่จะเปิดประเทศในเดือนตุลาคมนี้
“การออกกำลังกายเป็นผลดีสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันในช่วงที่มีโรคระบาด ดังนั้น กลุ่มธุรกิจฟิตเนสจึงสมควรเป็นธุรกิจต่อไปที่ได้รับการคลายล็อก รวมถึงกลุ่มธุรกิจบันเทิงและธุรกิจกลางคืนด้วย เพราะพวกเขาโดนสั่งปิดกิจการมานานเกินไปแล้ว และตอนนี้ต่างก็ได้เตรียมความพร้อมด้านมาตรการป้องกันโรคสำหรับการกลับมาเปิดให้บริการไว้เป็นอย่างดี ไม่ต่างจากกลุ่มธุรกิจอื่น”
ด้าน นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ทางด้านเศรษฐกิจจะมีการคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ก็ต้องมีอย่างเคร่งครัดต่อไป
ในขณะเดียวกันรัฐบาลควรเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 70% ของจำนวนประชากร โดยเฉพาะการเร่งฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป หรือที่เรียกว่ากลุ่ม 608 ให้มารับการฉีดวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิต
นางดรุณวรรณ กล่าวต่อว่า จากการทำงานของ ศปฉ.ปชป. และรายงานของกรมควบคุมโรคพบว่าการติดเชื้อโควิด 19 ส่วนใหญ่เป็นการติดจากคนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน และคนในครอบครัว โดยไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเราหรือคนรอบตัวติดเชื้อหรือไม่
ดังนั้น ทุกคนจึงต้องป้องกันตนเองอย่างสูงสุด (Universal Prevention) จึงมีข้อเสนอให้มีการขยายผลการจัดทำ GOOD FACTORY PRACTICE ให้ครอบคลุมสำหรับทุกโรงงานและนำมาปรับใช้สำหรับองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กรมอนามัยเป็นผู้กำหนดทั้ง 4 มาตรการเพื่อโรงงานปลอดภัย ได้แก่มาตรการด้านการป้องกันโรค มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม มาตรการเสริมสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่มาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อ
“ต้องยอมรับว่าเรายังต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางโควิด นอกเหนือไปจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว องค์กรขนาดเล็กที่มีจำนวนพนักงานต่ำกว่า 50 คนแต่ละแห่งก็ควรมี Good Practice เป็นของตัวเองเช่นเดียวกันภายใต้มาตรการควบคุมโรค เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมปรับตัวเข้าสู่ยุคนิว นอร์มอล (New normal) สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้โดยเร็ว” นางดรุณวรรณ ระบุ