จริงหรือ? แผ่นดินไทยอาบสารพิษ

26 มิ.ย. 2564 | 11:00 น.

“ดร.จรรยา" เปิดความจริง วาทกรรมเอ็นจีโอ ระบุ “แผ่นดินไทยอาบสารพิษ”  จริงหรือ พร้อมเปิดข้อมูลความจริง “ญี่ปุ่น” ใช้สารเคมีมากกว่าไทยถึง 7 เท่า เจาะเบื้องลึกใช้สินค้าเกษตร ชนิดไหนบ้าง ละเอียดยิบ

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผ่นดินไทยอาบสารพิษ เป็นวาทะกรรมที่คนไทยคุ้นชิน จนกลายเป็นควอามเชื่อ..โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลว่าจริงหรือไม่แต่เรื่องจริงคือ ..ความเท็จ‼️  ถ้าตั้งคำถาม ว่า "ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น  ประเทศไหนใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากกว่า❓คนส่วนใหญ่ จะตอบโดยไม่ต้องคิดเลยว่า ประเทศไทย‼️

 

แต่ข้อมูลย้อนหลัง 28 ปี ของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (พ.ศ. 2533-2561) ระบุชัดเจนว่า “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่ใช้สารเคมีมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก 2.24 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 68 ของโลก มีค่าเฉลี่ย เพียง 0.31 กิโลกรัมต่อไร่ และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการใช้สารต่อพื้นที่ทั่วโลก 171 ประเทศ มีค่าเท่ากับ 0.35 กิโลกรัมต่อไร่ น่าตกใจว่า..ญี่ปุ่น ใช้สารเคมีมากกว่าไทย 7 เท่า‼️ ถ้ากล่าวหา ว่า “แผ่นดินไทยอาบสารพิษ"  แผ่นดินญี่ปุ่น จะมีสภาพเป็นอย่างไรนึกไม่ออกเลยจริงๆ

 

“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่คนไทยทุกคน ใฝ่ฝันอยากไปเที่ยว เพราะว่าบ้านเมืองสะอาด สิ่งแวดล้อมสวยงาม และคงจะผลิตอาหารด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ กันทั้งประเทศ แต่จากสถิติ FAO เกษตรกรญี่ปุ่น ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อหน่วยพื้นที่มากกว่า เกษตรกรไทย 7 เท่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของญึ่ปุ่น (>99%) ทำเกษตรแบบ GAP มีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่ถึง 1%  รัฐบาลญี่ปุ่น เข้มงวดเรื่องการใช้สารเคมีฯ อย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมถึง การเว้นระยะเก็บเกี่ยวหลังพ่นสารเคมีให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารตกค้างในสินค้าเกษตรเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย

 

10 อันดับ ที่สุดในโลก ประเทศใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

 

ถึงแม้ว่า ญี่ปุ่นจะมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรอินทรีย์มากกว่าประเทศไทย  แต่รัฐบาลญึ่ปุ่นตระหนักดีว่า ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ต่อหน่วยพื้นที่ คงไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรจำนวนมากในประเทศ  จึงไม่เคยประกาศนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ให้มากกว่าพื้นที่เกษตรใช้สารเคมี‼️

 

ส่วน ประเทศไทย มีสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นประเทศอยู่ในเขตร้อนชื้น ถึงจะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี แต่ก็มีปัญหาศัตรูพืชมากกว่า ประเทศญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในเขตหนาว มีหิมะตก สามารถตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืชได้ จึงทำให้ปัญหาศัตรูพืชน้อยกว่า  แต่ญี่ปุ่นก็ยังใช้สารเคมีมากกว่าไทยถึง 7 เท่า

 

ญึ่ปุ่นผลิตเครื่องจักรกลและเครื่องทุ่นแรงมากมายให้เกษตรกรใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่เกษตรกรญี่ปุ่นก็ยังจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช  ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ "พาราควอต" ที่ประเทศไทยประกาศยกเลิกการใช้ ครบ 1 ปีพอดี

ดร.จรรยา กล่าวต่ออีกว่า จริงหรือไม่ ประเทศที่ยังใช้พาราควอตเป็นประเทศที่มีกฎหมายอ่อนแอ‼️ ข้อมูลล่าสุดในปี 2563 นี้ มีประเทศที่ "แบนพาราควอต" ไปแล้ว 56 ประเทศ และยังมีประเทศที่ยังใช้พาราควอตอยู่อีก 81 ประเทศ ขอยกตัวอย่างประเทศที่ยังใช้พาราควอตอยู่  และเป็นประเทศที่มีกฎหมายทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากที่สุดในโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ประเทศเหล่านี้ เป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญอันดับต้นๆของโลก เช่น ข้าวสาลี  ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง พืชผักผลไม้

 

คำถาม: ประเทศเหล่านี้..ไม่ทราบหรือว่าพาราควอตเป็นสารที่มีอันตรายมาก..หากใช้ผิดวิธี❓

 

คำตอบ:   ทราบดี แต่ทุกประเทศมีหน่วยงานประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) และมีการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management ที่ใช้ข้อมูลและหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ‼️ และมีการทำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกคนรับรู้ถึงความเสี่ยงและการจัดการที่ถูกต้อง (Risk Communicatio)

 

เปิด 81 ประเทศ ที่ยังคงใช้ "พาราควอต"

 

เรามาลองเจาะลึกประเทศญี่ปุ่น ที่คนไทยเกือบทุกคนเชื่อมั่นว่าเป็นประเทศที่ผลิตอาหารปลอดภัย มีสิ่งแวดล้อมสะอาดสวยงาม ประชากรอายุยืนยาวเกินร้อยปีเพราะบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ  เป็นต้นฉบับของการทำเกษตรอินทรีย์ ที่มีชื่อเสียงด้วย ทฤษฎีฟางเส้นเดียว ของนายฟูกูโอกะ

 

ในความเป็นจริง " ญี่ปุ่น" เป็นประเทศที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดอันดับ 5 ของโลก โดยมีปริมาณการใช้ต่อหน่วยพื้นที่ มากกว่าประเทศไทยเกือบ 4 เท่า พื้นที่เกษตรอินทรีย์ของญี่ปุ่นมีน้อยมากไม่ถึง1%.  ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ  ญี่ปุ่นอนุญาตให้ใช้พาราควอต‼️ ญี่ปุ่น จัด "พาราควอต" ให้เป็น "กลุ่ม DOKUBUTSU" เป็นสารมีความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากสูง  (Acute Oral Toxicity) การซื้อสารพาราควอต  เกษตรกรไม่ต้องขึ้นทะเบียน  และซื้อได้โดยไม่จำกัดจำนวน‼️

 

 แต่ร้านค้าต้องบันทึกข้อมูลโดยละเอียด รายงานสต๊อค ปริมาณการขาย และเก็บรายงานไว้อย่างน้อย 2 ปี ขั้นตอนซื้อ/ขายพาราควอต 1. ร้านค้าต้องบันทึก

        - เวลาซื้อขาย

        - ชื่อสินค้า

        - ปริมาณการซื้อ

        - จุดประสงค์การใช้

        - ที่อยู่ และอาชีพ

 

2. ร้านค้าต้องเช็คข้อมูลเกษตรกรท่านนั้นว่าสามารถซื้อได้หรือไม่จากฐานข้อมูล ถ้าไม่ชัดเจนร้านค้าจะไม่ขายให้

 

3. เกษตรกรต้องลงลายมือชื่อทุกครั้ง

 

การจัดการทั้งหมด มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อลดการฆ่าตัวตาย และลดการฆาตกรรม จากพาราควอต โดยทางกระทรวงเกษตรฯ ประเทศญี่ปุ่น อนุญาตให้ใช้พาราควอตได้ในพืชหลายชนิด ดังนี้

 

        -กลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และยาสูบ

 

       - กลุ่มไม้ผล เช่น องุ่น พืชตระกูลส้ม เชอรี่ แอปเปิ้ล สาลี่ ลูกพีช แอ๊ปปริคอต กีวีฟรุ๊ต และสตอเบอรี่

 

       - กลุ่มพืชผัก เช่น ผักกาดหอม กะหล่ำปลี บล็อกโคลี่ แตงกวา หอมหัวใหญ่ ต้นหอมญี่ปุ่น ฟักทอง แตงโม เมล่อน แครอท มะเขือเทศ ผักโขม เผือก พืชตระกูลกลอย หน่อไม้ญี่ปุ่น หน่อไม้ฝรั่ง พืชตระกูลขิง พริก มันเทศญี่ปุ่น มันฝรั่ง และพืชตระกูลถั่ว

 

      -กลุ่มไม้ดอกเช่น เบญจมาศ ทิวลิป แดฟโฟดิล

 

      - และพื้นที่ไม่ทำการเกษตร

 

คำถาม : ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงอนุญาตให้ใช้พาราควอตในการผลิตสินค้าเกษตร ❓

 

คำตอบ: เพราะหน่วยงานด้านความปลอดภัยและสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น มีการประเมินทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ (Risk & Benefi) พาราควอต แล้ว

พบว่า ยังคุ้มค่าที่อนุญาตให้เกษตรกรญี่ปุ่นใช้พาราควอตต่อไป

 

ที่มา: Agricultural Chemical Office, Plant Protection Products Safety Division, Food Safety and Consumer Affairs Bureau, Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries (MAFF),  15 October 2020