บีทีเอส ซัด รฟม.ประมูลสายสีส้มไม่ทันปีนี้

01 ก.ย. 2564 | 09:03 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2564 | 16:10 น.

บีทีเอส ฉะ รฟม.ประมูลสายสีส้มล่าช้า เหตุอยู่ในกระบวนการศาลเพิ่ม 3 คดี หลังศาลปกครองสูงสุดจำหน่ายคดีบางส่วน มั่นใจประมูลไม่ทันปีนี้ รอนัดไต่สวนก.ย.นี้ ด้านรฟม.เผยไทม์ไลน์รอบใหม่ เล็งเปิดประมูล ต.ค.64 ยันไม่กระทบเปิดให้บริการสายตะวันออกกลางปี 68

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น เบื้องต้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีเพิ่มเติมอีก 3 คดี ประกอบด้วย 1.คดีความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ของศาลปกครองกลาง 2.คดีกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และคณะกรรมการมาตรา 36 ยกเลิกการประกวดราคาโดยมิชอบ ของศาลปกครองกลาง และ 3.คดีฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอนัดไต่สวนของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯจะนัดไต่สวนอีกครั้งภายในเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาติดปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

 

“เรื่องนี้ก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องการจำหน่ายคดีที่บริษัทฟ้องศาลปกครองถึงการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน(ทีโออาร์)ของรฟม. ซึ่งเป็นการจำหน่ายคดีเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ที่ผ่านมา รฟม. ได้ยกเลิกการประมูลรอบแรกแล้ว หากอีก 2 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางถึงขั้นการพิจารณาส่งต่อศาลปกครองสูงสุด ผู้ฟ้องหรือผู้ถูกฟ้องมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการต่อไป”

 

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ ปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานจากรฟม.แต่อย่างใด หากรฟม.ยืนยันจะใช้เกณฑ์การประมูลใหม่ โดยแบ่งเป็น เกณฑ์การประมูลด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคาและผลตอบแทนการลงทุน 70 คะแนน หรือไม่นั้น เบื้องต้นบริษัทขอดูรายละเอียดและเงื่อนไขของเกณฑ์การประกวดราคา (ทีโออาร์) รอบใหม่ก่อนว่าเป็นอย่างไร

บีทีเอส ซัด รฟม.ประมูลสายสีส้มไม่ทันปีนี้

รายงานข่าวจากบีทีเอส กล่าวว่า ทางบริษัททราบตั้งแต่แรกแล้วว่าแนวโน้มการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดจะมีการจำหน่ายคดีดังกล่าว เพราะเหตุแห่งการพิจารณาสิ้นสุดแล้ว เนื่องจากภาครัฐได้มีการยกเลิการกประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มออกไป ขณะเดียวกันที่ผ่านมาบริษัทไปยื่นอุทธรณ์กรณีที่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประกวดราคาโดยมิชอบนั้น ทางศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีที่เปลี่ยนเกณฑ์โดยมิชอบจริงจึงมีการทุเลาไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง

 

 

รายงานข่าวจากบีทีเอส กล่าวต่อว่า ในส่วนความคืบหน้าคดีฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งอยู่ระหว่างรอนัดไต่สวนของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้น พบว่าทางรฟม.ได้ขอศาลฯเลื่อนการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่าอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่อง

 

 

“การเตรียมความพร้อมของบริษัทสำหรับคดีอยู่ระหว่างรอนัดไต่สวนของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ปัจจุบันทีมทนายบริษัทมีการเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องรอการนัดไต่สวนจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ อีกรอบ ส่วนคดีสายสีส้มจะได้ข้อสรุปเมื่อไรนั้น เราทราบว่าที่ผ่านมารฟม.แจ้งว่าหลังมีการยกเลิกการประมูลรอบแรกแล้วจะดำเนินการเปิดประมูลรอบใหม่ภายในเดือนมิถุนายน 2564 หากไม่ดำเนินการยกเลิกประมูลในรอบแรกจะทำให้เสียเวลา แต่เราเชื่อว่าภายในปีนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังเปิดประมูลไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันเลยกำหนดระยะเวลาที่รฟม.เคยแจ้งแล้ว ซึ่งเรามองว่าโครงการนี้ที่เราประเมินสถานการณ์ไว้มันเป็นการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่สามารถหลบหลีกหรือเลี่ยงเส้นทางในการเร่งรัดโครงการฯได้ หากรฟม.จะใช้หลักเกณ์การประประกวดราคารอบใหม่ควรยึดพื้นฐานจากประโยชน์ของภาครัฐและควรมีการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย”

ทั้งนี้บริษัทจะมีการฟ้องร้องเพิ่มเติมต่อศาลแห่งไหนอีกหรือไม่ คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญปัจจุบันมีหน่วยงานที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มคือ กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร เล็งเห็นว่า โครงการฯนี้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูลถึงปัญหาดังกล่าว พบว่าทางรฟม. กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการมาตรา 36 กลับไม่ยอมให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับกรรมาธิการสภาฯ โดยให้ตุผลว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ทำให้กรรมาธิการสภาฯ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมแทน เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ และบีทีเอส เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป

 

 

ฟากนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ว่าปัจจุบันติดปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทำให้รฟม.ไม่สามารถประชุมได้ตามปกติเบื้องต้นรฟม.ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เสนอคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตและกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาบรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนรอรายชื่อผู้ร่วมสังเกตการณ์ เข้าร่วมประชุม

 

 

สำหรับไทม์ไลน์การประมูลสายสีส้มรอบใหม่ ภายหลังจากได้รายชื่อผู้ร่วมสังเกตการณ์เข้าร่วมประชุมแล้ว ทางรฟม.จะเร่งดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการตามาตรา 36 เพื่อพิจารณารายละเอียดร่างเอกสารการการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาการร่วมลงทุน โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นจะประกาศขายเอกสารการประกวดราคาให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ภายในเดือนตุลาคมนี้ และให้เอกชนจัดทำข้อเสนอภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 หรือ 60 วัน คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้าง ภายในเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 โดยผู้รับจ้างจะสามารถเริ่มงานระบบรถไฟฟ้าได้ทันที ซึ่งรฟม.จะเร่งดำเนินการในส่วนนี้เพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จทันตามแผนที่วางไว้และไม่กระทบต่อการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกที่คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณกลางปี 2568 ส่วนสายสีส้มตะวันตกจะเปิดให้บริการหลังจากสายสีส้มตะวันออกเปิดให้บริการแล้ว 3 ปี