ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ระบุว่า ต้องการให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีส้มโดยเร็ว เนื่องจากเป็นเส้นทางที่น่าจะมีผู้โดยสารมาก เพราะวิ่งเชื่อมฝั่งธนฯ กับฝั่งพระนคร ผ่านพื้นที่สำคัญหลายแห่ง
หลายคนคงไม่รู้ว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ใช้เกณฑ์ประมูลไม่เหมือนกัน ช่วงตะวันออกซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างใช้เกณฑ์หนึ่ง ช่วงตะวันตกซึ่งอยู่ในระหว่างการประมูลใช้อีกเกณฑ์หนึ่ง เป็นเหตุให้การประมูลล่าช้า ทำไม รฟม.จึงใช้เกณฑ์ไม่เหมือนกัน? มีเงื่อนงำอะไร หรือไม่?
รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออกใช้เกณฑ์ประมูลอะไร จึงสามารถก่อสร้างได้อย่างราบรื่น เป็นไปตามแผนงาน?
รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออก จากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร แบ่งเป็นระยะทางใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร และระยะทางยกระดับ 8.9 กิโลเมตร วงเงินงานโยธา 82,907 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดประมูลหาผู้รับเหมาเมื่อปี 2559 โดยใช้เกณฑ์ประมูลซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอได้คะแนนด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 70% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาต่อไป ใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล
จากการใช้เกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ รฟม.สามารถคัดเลือกได้ผู้รับเหมาที่มีสมรรถนะสูง ส่งผลให้งานก่อสร้างดำเนินมาได้อย่างราบรื่น เป็นไปตามแผนงาน ถึงวันนี้มีความคืบหน้าประมาณ 85%
ทำไมรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตกจึงไม่ใช้เกณฑ์ประมูลเหมือนช่วงตะวันออก ซึ่งใช้ได้ผลดี?
ในปี 2563 รฟม.เปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร ซึ่งต้องก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 96,012 ล้านบาท และจัดหารถไฟฟ้ารวมทั้งให้บริการเดินรถตลอดเส้นทาง ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 32,116 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งหมด 128,128 ล้านบาท
เดิม รฟม.ใช้เกณฑ์เหมือนกับการประมูลช่วงตะวันออก โดยได้ปรับเพิ่มคะแนนขั้นต่ำที่จะผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคจากเดิมไม่น้อยกว่า 70% เป็นไม่น้อยกว่า 85% ทั้งนี้ รฟม.คงเห็นว่าเส้นทางช่วงตะวันตกจะต้องเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงจำเป็นต้องได้ผู้ชนะการประมูลที่มีขีดความสามารถด้านเทคนิคสูงขึ้น
รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศ!ใช่หรือไม่ ?
โดยแต่ก่อนถึงวันยื่นประมูล รฟม.ได้เปลี่ยนไปใช้ “เกณฑ์ใหม่” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทน โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล
ทั้งนี้ รฟม.ให้เหตุผลว่าจะต้องขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยา จึงจำเป็นต้องได้ผู้ชนะการประมูลที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง ซึ่งย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กล่าวคือ รฟม.ได้ลดคะแนนด้านเทคนิคลงจากเดิม 100% เหลือเพียง 30% เท่านั้น เป็นการลดทอนความสำคัญด้านเทคนิคลง ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำที่จะผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคไว้ด้วย นั่นหมายความว่าไม่ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะได้คะแนนด้านเทคนิคต่ำเพียงใดก็จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทน เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่า รฟม.จะได้ผู้ชนะการประมูลที่มีขีดความสามารถด้านเทคนิคสูงตามเป้าประสงค์ได้อย่างไร?
การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลทำให้ รฟม.ถูกฟ้องร้องจากผู้ยื่นข้อเสนอที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นผลให้การประมูลช่วงตะวันตกล่าช้ากว่าแผนไปแล้วประมาณ 1 ปี
ทำไม รฟม.จึงเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล?
ผู้ติดตามเรื่องนี้ได้ตั้งข้อสงสัยต่างๆ นานา บางคนเชื่อตามเหตุผลที่ รฟม.กล่าวอ้าง บางคนคิดว่าเป็นการล็อกสเปกให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่งหรือไม่? จึงตั้งคำถามว่า หลายท่านมีความเห็นอย่างไร? หรือคิดว่า รฟม.มีเงื่อนงำอะไร หรือไม่?
ดร.สามารถทิ้งท้ายว่า ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่หลายฝ่ายต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง