คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโครงการ “การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพไม้ผลร่วมยาง และไม้ผลผสมผสาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา”
ซึ่งเป็นโครงการย่อยภายใต้แผนงานหลัก การสร้างนวัตกรรมอาชีพการเกษตร เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และบรรเทาผลกระทบจากโควิด- 19 (สงขลาโมเดล) เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
โครงการสงขลาโมเดล มีผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และรศ.ดร.จรัสศรี นวลศรี รับผิดชอบโครงการด้านไม้ผล
มีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรรม จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่สัมฤทธิ์ผลแล้ว เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร โดยการให้ความรู้การบริหารจัดการสวนผลไม้ ตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices: GAP)
เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด เน้นไม้ผลร่วมยางพารา ทั้งปลูกในแปลงเดียวกันและปลูกแยกแปลง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลูกแบบผสมผสาน สถานที่โครงการคือตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จ.สงขลา
รศ.ดร. จรัสศรี นวลศรี หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า โครงการได้รับงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.). ให้เริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากในช่วงดังกล่าว มีผลกระทบต่อการลงพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ต้องปรับแผนการทำงาน
อีกทั้งผลไม้ชนิดต่าง ๆ ในพื้นที่เริ่มติดผล ปีนี้ผลไม้หลายชนิด เช่น เงาะ และมังคุด ติดผลจำนวนมาก ด้วยสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ตัวอย่างเช่น เงาะ เฉพาะในพื้นที่ตำบลเขาพระคาดว่ามีผลผลิตประมาณ 800-900 ตัน การระบายผลผลิตออกนอกพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก แม่ค้าที่เคยมาซื้อผลไม้หายหน้าไป เนื่องจากการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด จากการระบาดของโควิด-19 ตลาดท้องถิ่น และตลาดนัดส่วนใหญ่ถูกปิด การส่งสินค้าไปตลาดผลไม้ใหญ่ของประเทศ เช่น ตลาดไทที่กรุงเทพมหานครก็มีปัญหาการขนส่ง
ทางโครงการจึงจัดการส่งเสริมให้มีการขายออนไลน์เป็นทางเลือก แต่ยังมีปัญหาตามมา เมื่อบริษัทรับขนส่งสินค้าไม่บริการรับส่งผลไม้ ทำให้ราคาผลไม้เงาะ มังคุด ตกต่ำเป็นประวัติการณ์
โครงการฯ จึงได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร นำผลผลิตจากสวนส่งตรงถึงตลาด ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ ในช่วงวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เพื่อส่งต่อถึงลูกค้าที่สั่งสินค้าล่วงหน้า และผู้มาซื้อที่ตลาด
นอกจากนี้ยังได้ช่วยเกษตรกรเปิดช่องทางการขายผ่านเพจ PSU Bazaar ของมหาวิทยาลัย ร่วมกับ เพจ Local Life Platform มีการ live สด ขายผลไม้ และ แอปพลิเคชั่น OneChat เมื่อมีการสั่งซื้อ ก็มีไรเดอร์บริการไปส่งให้ถึงบ้าน ในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมทั้งแนะนำการขายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุคให้กับลูกหลานเกษตรกร
การขายผ่านช่องทางต่างๆ ที่กล่าวมานี่ นอกจากเป็นการช่วยระบายสินค้าให้กับเกษตรกรแล้ว ยังมีผลให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตจากสวนในราคาที่สูงกว่าการขายกับพ่อค้าคนกลาง 5-10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้ผลผลิตผลไม้ เริ่มลดน้อยลง สถานการณ์ด้านการตลาดและราคาก็ดีขึ้นเป็นลำดับ