นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้ดำเนินการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ไทยออกไปเปิดตลาดการค้าในต่างประเทศ โดยได้เริ่มใน 3 ประเทศที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินเดีย และบาห์เรน ซึ่ง สสว. และ ส.อ.ท. ได้เชิญบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่ของทั้ง 3 ประเทศ ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจเข้าร่วมการเจรจาจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้ ผ่านระบบออนไลน์
ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้ 100 ราย และมีผู้ประกอบการจาก 3 ประเทศ จำนวน 100 ราย สามารถเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยได้ 324 คู่ แบ่งเป็นประเทศจีน มีผู้ประกอบการไทย 30 บริษัท เจรจากับผู้ค้าประเทศจีน 15 บริษัท จับคู่เจรจาได้ 62 คู่ โดยสินค้าที่ฝ่ายจีนให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ อาหารเกษตรแปรรูป อาทิ ผัก-ผลไม้อบแห้ง รวมถึงคุกกี้สอดไส้ผลไม้
ส่วนประเทศอินเดีย มีผู้ประกอบการไทย 40 บริษัท เจรจากับผู้ค้าประเทศอินเดีย 60 บริษัทจับคู่เจรจาได้ 168 คู่ สินค้าที่ผู้นำเข้าอินเดียให้ความสนใจ ได้แก่ อาหารแปรรูปจากพืช อาหารทานเล่นจากผักและไม้ รวมถึงไปของใช้ของตกแต่งภายในบ้าน
และประเทศบาห์เรน มีผู้ประกอบการไทย 30 บริษัท เจรจากับผู้ค้าประเทศบาห์เรน 17 บริษัท จับคู่เจรจาได้ 96 คู่ โดยมีสินค้าที่บาห์เรนให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ สินค้าเพื่อสุขภาพ และรองลงมาคือสินค้าเกษตรแปรรูป
สำหรับ ในภาพรวมแล้ว กลุ่มสินค้าที่จับคู่มากสุดได้แก่ อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องใช้และของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ โดยคาดว่าจะเกิดเม็ดเงินในการเจรจาธุรกิจเบื้องต้นกว่า 230 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะเกิดเม็ดเงินตามมาอีกมาก
“โครงการเจรจาจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการนำเอสเอ็มอีของไทยออกไปเปิดตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพเหล่านี้ และจะเกิดการต่อยอดซื้อขายจากนี้อีกเป็นจำนวนมาก โดย สสว. และ ส.อ.ท. จะเดินหน้าจัดโครงการในลักษณะนี้ร่วมกันกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 (Covid-19) ในครั้งนี้ไปได้ และเกิดลูกค้าต่างชาติรายใหม่ ๆ มากขึ้นในอนาคต”