ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพื่อควบคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดระยองที่มีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังอยู่ในระดับสูง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ลงนามคำสั่ง ที่ 12626/2564 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 มีรายละเอียดคือ
1. กำหนดให้สถานประกอบการทุกประเภทดำเนินการสุ่มตรวจพนักงานทุกแผนก ด้วยชุดตรวจหาเชื้อฯ แบบเร่งด่วน (ATK) ไม่น้อยกว่า 20% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ทุกสัปดาห์ในเดือนแรกสำหรับเดือนต่อๆ ไป ให้สุ่มตรวจพนักงานทุกแผนกไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคในสถานประกอบการ
2.หากสถานประกอบการใดตรวจคัดกรองพนักงาน ด้วยชุดตรวจหาเชื้อฯ แบบเร่งด่วน (ATK) ได้เต็มจำนวน (100 %) ในสัปดาห์แรก สำหรับสัปดาห์ต่อ ๆ ไปให้สุ่มตรวจพนักงานทุกแผนกไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในทุกสัปดาห์
กรณีผลตรวจ ATK เป็นบวก ให้สถานประกอบการ รายงานให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทราบเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่ทันที
ด้านนายสงวน แสงวงศ์กิจ ประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.)จังหวัดระยอง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ จังหวัดระยองได้ขอความร่วมมือไปยังทุกสถานประกอบการให้มีการตรวจ ATK ให้กับพนักงานไปแล้ว แต่ระยะหลังมีการแพร่ระบาดค่อนข้างสูง ตัวเลขของผู้ติดเชื้อในระยอง มีเพิ่มสูงขึ้น จากการขอความร่วมมือจึงเป็นการออกคำสั่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำงานเชิงรุกที่มีเป้าหมายลดจำนวนผู้ติดเชื้อ
คำสั่งนี้รวมผู้ประกอบการทุกกิจการ แม้แต่เอสเอ็มอี ห้างสรรพสินค้า และเป้าหมายหลักคือกลุ่มโรงงาน เพราะถึงแม้ว่าในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีการตรวจ ATK เป็นประจำอยู่แล้ว แต่การเน้นย้ำก็จะช่วยให้เกิดการป้องกันได้ครอบคลุม เพราะร่วมทำพร้อมกันทั้งจังหวัด
“ในคำสั่งระบุให้ทำตามความพร้อม เช่น ถ้าสถานประกอบการไหนมีความพร้อมให้ทำ 100% แต่ถ้าไม่พร้อมให้ค่อย ๆ ทำ และเมื่อทำครบ ให้เฝ้าระวังและตรวจสุ่มต่อเนื่อง บางจังหวัดบังคับให้ตรวจ 100% แต่ระยองเรายังไม่บังคับทีเดียว ให้ตรวจทุกคนโดยแบ่งเป็นระยะแต่ให้ทำจนครบ เพราะถ้าเราทำเชิงรุกพร้อมกันแบบนี้ ก็จะช่วยให้สถานการณ์ยุติได้เร็วกว่า”
ประธานส.อ.ท.จังหวัดระยองกล่าวอีกว่า แต่ทั้งนี้ก็ยังกังวลกับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับสถานประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งการตรวจ ATK โดยผู้ประกอบการเป็นผู้จัดหา จะเป็นค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการ ถ้ารัฐช่วยสนับสนุนก็จะเป็นการแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการได้ หรือให้ประกันสังคมเข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนชุดตรวจ ให้
ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในช่วงนี้ได้
ด้านนางสริญทิพญ ทัพมงคลทรัพย์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด กล่าวรับว่า เป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของจังหวัดระยอง แต่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างมากในเรื่องภาระค่าใช้จ่าย เพราะบนเกาะเสม็ดมีสถานประกอบการ 150 แห่ง และได้รับความเดือดร้อนจากพิษโควิด-19 ต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี
ที่ผ่านมายังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ การกู้เงินจากสถาบันการเงิน ภาคการท่องเที่ยวของระยอง ตายสนิทแล้ว จึงอยากให้ภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ เพราะในขณะนี้แทบทุกกิจการกำลังย่ำแย่ จะหาซื้อชุดตรวจโควิด-19 กันอย่างไร ที่สำคัญเมื่อมีการตรวจแล้วก็ไม่ได้มีอะไรมารับรองผลการตรวจ เพราะต้องไปตรวจใหม่กับทางโรงพยาบาล จึงเป็นการเพิ่มภาระทั้งค่าใช้จ่ายและไม่สมเหตุผล ในขณะที่ทุกคนไปไม่ไหว อยากให้ทางภาครัฐหรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ควรจัดงบประมาณสนับสนุนในส่วนนี้ให้เพียงพอ
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,711 วันที่ 5-8 กันยายน พ.ศ.2564