ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผู้บริหารเทศบาลเมืองกันตัง เชิญผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ประธานกรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และกรรมการผู้จัดการโรงแรมดูก๊อง วิลเลจ ปากเมง เพื่อประชุมหารือการพัฒนาสะพานท่าเทียบเรือเพื่อการพาณิชย์ต่างประเทศ กันตัง ที่ปล่อยทิ้งร้าง
ในอดีตท่าเทียบเรือกันตังมีการขนส่งสินเค้าเข้าออกมาช้านานและมีปริมาณมาก โดยมีเส้นทางรถไฟสายทุ่งสง-กันตัง แยกจากเส้นทางสายใต้ มาถึงสถานีกันตังที่สะพานท่าเทียบเรือ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ยางพารารมควัน ยางพาราอัดแท่ง น้ำยางข้น ไม้ยางพาราแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ วู๊ดพาเลจ(ขี้เลื่อยอัดเม็ด) แร่ยิปซั่ม ปูนซิเมนต์อัดเม็ด และอื่น ๆ ปลายทางมาเลเซีย อินโดเนเซีย สิงคโปร์ จีน พม่า บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ส่วนสินค้านำเข้า คือถ่านหิน และอุปกรณ์เครื่องจักรต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสินค้าเทกองและสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่าการค้ามีเป็นจำนวนมากแต่ละปี
ปัจจุบันท่าเทียบเรือแห่งนี้มีความสำคัญลดลง คือมีสินค้านำเข้าส่งออกน้อย ผู้ประกอบการสู้ต้นทุนไม่ไหวก็เลิกเช่ากันไป หรือบางส่วนหันไปสร้างท่าเทียบเป็นของตนเอง โดยเป็นของเอกชน 4 ท่า เทศบาลเมืองกันตัง 1 ท่า อบจ.ตรัง 1 ท่า
ซึ่งท่าเทียบเรือในความดูแลของเทศบาลเมืองกันตัง ได้ทำสัญญาเช่าท่าเทียบเรือต่างประเทศ รวม 3 แห่ง กับ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ จังหวัดตรัง ดังนี้
1.สะพาน ขนาดกว้าง 15.50 เมตร ยาว 144.00เมตร
2.สะพานขนาดกว้าง 24.50 เมตร ยาว 90.00 เมตร
3.สะพานขนาดกว้าง 24.50 เมตร ยาว 90.00เมตร ปัจจุบันเลิกใช้
ภาคเอกชน ประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ มีเป้าหมายจะพัฒนาเมืองเก่ากันตัง ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามันของจังหวัดตรังอีกแห่ง เนื่องจากกันตังมีชัยภูมิที่ดี เป็นจุดศูนย์รวมการคมนาคมขนส่งและการเดินทางหลากรูปแบบ คือ มีทางรถไฟเข้าถึงตัวเมืองที่สถานีกันตัง ซึ่งมีพื้นที่ต่อเนื่องถึงท่าเทียบเรือกันตัง ที่สามารถล่องเรือออกสู่ทะเลอันดามันได้โดยตรง แล่นลงทางใต้ผ่านสตูล ลงไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์อินโดเนเซีย ขึ้นทางเหนือไปยังกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ต่อไปถึงเมียนมาเชื่อมไปถึงอินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกาขณะที่การเดินทางด้วยเครื่องบินก็สะดวกรวดเร็ว จากสนามบินตรังถึงกันตังมีระยะทางเพียง 22 กิโลเมตร
ที่ประชุมสรุปความเห็นว่าควรคัดเลือกท่าเทียบเรือเพื่อการพาณิชย์ต่างประเทศ กันตัง สะพานหมายเลข 3 ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ มาปรับปรุงเป็นท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว มีขนาดพื้นที่กว้าง 24.50 เมตร ยาว 90.00 เมตร โดยจะเสนอผ่านประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.)จังหวัดตรัง เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดตรัง ตามลำดับต่อไป
นายสรนนท์ จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกันตัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีนี้ได้งบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง 80 ล้านบาท มาปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือกันตัง จึงควรปรับปรุงพัฒนาท่าเรือพาณิชย์ต่างประเทศแห่งนี้มาเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว โดยจะหารือกับทางผู้ว่าฯตรัง เพื่อขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า ออกแบบให้สะดวกในการใช้งานและสวยงามต่อไป
ด้านนายพิทักษ์พงษ์ ชัยคช ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง กล่าวว่า ท่าเรือกันตังมีความพร้อมทุกอย่าง หน่วยราชที่เกี่ยวข้อง เจ้าท่า ตำรวจน้ำ ศุลกากร ด่านกักพืชโรคและสัตว์และอื่น ๆ ตั้งในพื้นที่อย่แล้ว เส้นทางคมนาคมสะดวกสบาย ทางรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน และทางน้ำสะดวกสบาย ที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ซื้อขายได้สะดวก ดำเนินอะไรก็มีกฎหมายรองรับ สามารถเดินหน้าปรับปรุงพัฒนาได้ทันที
เมื่อปรับปรุงแล้วผู้ประกอบการภาคเอกชน สนใจจะนำเรือประสิทธิภาพสูงมาเปิดบริการ อาทิเช่น เรือสปีดโบ็ท เรือขนาดใหญ่ ที่สามารถแล่นในทะเลตรัง ทะเลอันดามันต่อไปยังต่างประเทศได้ ตัวอย่างเช่น เส้นทางเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมเกาะปีนังกับกันตัง เนื่องจากเป็นเส้นทางติดต่อค้าขายกันมาแต่โบราณ เป็นบ้านพี่เมืองน้องร่วมเชื้อสายเดียวกัน
ส่วนในช่วงหน้ามรสุมในทะเลอันดามันก็สามารถนำเรือเข้าเที่ยวในเส้นทางแม่นํ้าตรัง แม่นํ้าปะเหลียน ชมป่าโกงกาง มีทิวทัศน์สวยงาม พร้อมบริการอาหารบนเรือ โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตรัง วางมาตรการให้ผู้ให้บริการต้องผ่านมาตรฐาน SHA เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังโควิดนี้ด้วย
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,711 วันที่ 5-8 กันยายน พ.ศ.2564