การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประกาศผลการแข่งขันในโครงการยกระดับขีดความสามารถของการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน หรือ TAT GYM 2021 เร่งฟื้นฟูท่องเที่ยวไทยภายใต้กรอบแนวคิดระบบเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy โดยส่งเสริมให้ใช้การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) เป็นเครื่องมือสร้างความยั่งยืน หนุน 10 ผู้ประกอบการและตัวแทนชุมชนท่องเที่ยวใช้ “นวัตกรรม” คิดต่อยอดตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า โครงการยกระดับขีดความสามารถของการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน หรือ TAT GYM 2021 นี้ ททท. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยนวัตกรรม และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 10 ทีมจากผู้สมัครทั้งสิ้น 43 ทีม และผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพเข้มข้น
ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลในยุค New Normal ด้วยการอบรมออนไลน์จำนวน 10 ครั้ง รวมกว่า 20 ชั่วโมง โดยผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อที่สำคัญ อาทิ ทัศนคติของผู้ประกอบการอย่างความยั่งยืน พลวัตรการท่องเที่ยว (Dynamic of Tourism) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ การพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์กลุ่มมิลเลนเนียล และ Business Model 4.0 เป็นต้น
นอกจากนี้ทั้ง 10 ทีม มีภารกิจในการพัฒนานวัตกรรมทั้งรูปแบบ Service, Process และ Product Innovation ร่วมกับที่ปรึกษาประจำทีมในระยะเวลา 30 วัน ซึ่งผลจากความทุ่มเทและความตั้งใจของทุกทีม ทำให้ได้ผลงานนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรูปธรรม โดยผลงานของทั้ง 10 ทีมนั้น ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของการท่องเที่ยวไทยบนพื้นฐานของแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy Model) ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)
สำหรับ ผู้เข้ารอบ 10 ทีม จะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดธุรกิจทีมละ 10,000 บาท ได้แก่ ชุมชนบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น นำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยววิถีชุมชนพร้อมประสบการณ์แบบ เที่ยว ทำ นำกลับบ้าน สัมผัสวิถีชุมชม ธรรมชาติ รวมถึงชิมอาหารท้องถิ่นและลงมือทำกิจกรรม ฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง จังหวัดนครราชสีมา นำเสนอการท่องเที่ยวแบบไร้ความเร่งรีบ ผ่านกระบวนการ 5 Senses โดยระหว่างการท่องเที่ยวนี้จะมี “เพื่อนทิพย์” ที่คอยนำกระบวนการต่าง ๆ มาเชื่อมโยงทำให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจ ค้นพบ ผสานตัวตนไปกับชุมชนและธรรมชาติ
Scootdy Tour กรุงเทพมหานคร นำเสนอทางเลือกในการท่องเที่ยวชุมชนด้วยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ลดพลังงานในการเดินทางและเพิ่มเวลาการท่องเที่ยวในชุมชน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มของดีเมืองฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอนวัตกรรมแพลตฟอร์มชื่อลุงปันพาแอ่วเหนือ กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในแหล่งชุมชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ อ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จังหวัดอุดรธานี นำเสนอการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยผ้าที่เขียน ภาพ วาด ด้วยสีจากผ้าย้อมสีธรรมชาติที่เหลือจากภาคการเกษตร
วิสาหกิจชุมชนล่องแพบ้านน้ำราบ จังหวัดตรัง นำเสนอประสบการณ์กล่อง 6 ผัสสะของบ้านน้ำราบ ภายใต้แนวคิด “เรียกปู สู่จาน ฟอกปอด อาบป่าเลน” ด้วย ตา หู ลิ้น จมูก กาย และใจ จากวัตถุดิบในชุมชน โรงแรมทรีธารา จังหวัดลำปาง นำเสนอ สื่อ Lampang Guide เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางด้านท่องเที่ยวลำปาง และสร้างสรรค์ให้เกิดการบอกต่อใน Social Media ไร่ใจยิ้ม จังหวัดกาญจนบุรี นำเสนอ University of Happiness มหาวิทยาลัยความสุข สร้าง Hardware On - Ground และ Software On - Cloud เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกับชุมชน
Hi Stranger กรุงเทพมหานคร จัดทำหลักสูตร Experience online เพื่อส่งต่อความรู้ด้านการเขียนและภาพเชิงสร้างสรรค์ เพื่อบอกเล่า เทคนิค เบื้องหลังการทำงานผ่านการนำเสนอในสื่อออนไลน์ และการออกเดินทางลงพื้นที่จริงตามสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยว และบ้านทุ่งรุ่งอรุณ จังหวัดเชียงราย นำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ Miss story box เพราะเราคิดถึง จากการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นมาสร้างการรับรู้ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์
สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยม 4 ทีม ได้แก่ ไร่ใจยิ้ม อ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม ฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง และ โรงแรมทรีธารา จะได้รับเงินสนับสนุนต่อยอดธุรกิจอีกทีมละ 15,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร รวมมูลค่ารางวัลในโครงการมากกว่า 150,000 บาท โดยททท. เชื่อมั่นว่าทั้ง 10 ผู้ประกอบการและตัวแทนชุมชนท่องเที่ยว จะเป็นหนึ่งในกลไกร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืนต่อไป