นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงาน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจในมาตรการ Good Factory Practice และหลักเกณฑ์ Bubble and Seal เพื่อให้สามารถนำมาตรการ ดังกล่าวไปให้คำแนะนำและ ตรวจประเมินได้ในทิศทางเดียวกัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันและขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19)ในสถานประกอบกิจการโรงงาน
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังคงพบการระบาดในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จะทำให้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยกลับลงมาแย่ลงได้อีกและอาจมีโรงงานต้องหยุดประกอบกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นอีก จึงมีความจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันและร่วมมือกัน เพื่อหยุดการระบาดของ COVID-19 ในโรงงาน และเพื่อให้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงานสามารถนำไปปฏิบัติได้เหมาะสมกับโรงงานมากขึ้น
"การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้การเสวนาหัวข้อ ผนึกกำลัง ฝ่าวิกฤต COVID-19 ในสถานประกอบกิจการ ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุม การแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19) ในสถานประกอบกิจการโรงงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงานและปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ"
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ทั้งการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคของประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรการ และแนวทางในการลดการระบาดของเชื้อ COVID-19 ในสถานประกอบการ โดยเน้นย้ำให้สถานประกอบการต้องมีดำเนินการตามมาตรฐานสาธารณสุข และการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid และ Thai Save Thai
ตลอดจนการทำ Bubble and Seal ซึ่งจะสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดในสถานประกอบการลงไปได้ 4-5 เท่า ทั้งนี้ ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในการป้องกันและการควบคุมในการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม (ศบค.อก.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2564 จะมีการกำหนดแนวทางและมาตรการเชิงรุก เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศให้เร็วและมากที่สุด รวมถึงการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในอนาคต
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม (ศูนย์CMC : Crisis Management Center) พบว่าตั้งแต่ 1 เมษายน – 2 กันยายน 2564 พบการระบาดของเชื้อ COVID-19 ในโรงงานประมาณ 881 โรงงาน ใน 62 จังหวัด และพบว่ามีผู้ติดเชื้อ ประมาณ 61,919 คน โดยจังหวัดที่พบการระบาด ในโรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ฉะเชิงเทรา สระบุรี สมุทรสาคร และเพชรบูรณ์ สำหรับประเภทอุตสาหกรรมที่พบการระบาดในโรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมพลาสติก โดยสาเหตุเกิดขึ้นจากทั้งในส่วนของพนักงานได้รับเชื้อที่ระบาดภายในโรงงานแล้วนำไปแพร่เชื้อต่อในสถานที่ต่างๆ และจากพนักงานได้รับเชื้อไวรัสจากสถานที่ต่าง ๆ แล้วนำไปแพร่เชื้อต่อที่โรงงาน ส่งผลให้เกิดการระบาด ของ COVID-19 ในวงกว้าง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ และโรงงานหลายแห่งต้องหยุดประกอบกิจการชั่วคราว