โควิดสายพันธุ์ มิว เข้าใกล้ไทยมากขึ้น หมอเฉลิมชัยเผยพบติดเชื้อที่ญี่ปุ่น

03 ก.ย. 2564 | 02:02 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2564 | 13:21 น.

หมอเฉลิมชัยเผยโควิดสายพันธุ์ มิว ขยับเข้าใกล้ไทยมากขึ้น ระบุพบติดเชื้อที่ญี่ปุ่น 2 ราย ล่าสุดแพร่ระบาดแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ไวรัสสายพันธุ์ใหม่มิว (Mu) ขยับเข้าใกล้ไทยมากขึ้นทุกที ญี่ปุ่นเป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศพบแล้ว
หลังจากเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อว่ามิว เป็นไวรัสที่ต้องจับตามอง VOI) เป็นลำดับที่ห้า
โดยก่อนหน้านี้ มีไวรัสที่ต้องจับตามองอยู่แล้ว 4 สายพันธุ์ และยังมีไวรัสที่น่าเป็นห่วง VOC) อยู่อีก 4 สายพันธุ์คือ อัลฟ่า เบต้า แกมมา และเดลตา
ขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์มิว ได้แพร่ระบาดแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
หลังจากพบเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2564 ในโคลัมเบีย และตอนนี้แพร่ระบาดราว 2ใน3 ของผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก
แล้วขยับไปที่ประเทศเอกวาดอร์ พบระบาดไปแล้ว 13%
มีการระบาดประปราย ทั้งในทวีปอเมริกาใต้ ยุโรป อเมริกาเหนือ และขณะนี้ขยับเข้ามาในเอเชียแล้ว
โดยทางการญี่ปุ่น ยืนยันการพบสองรายแรก ที่ติดไวรัสสายพันธุ์มิว โดยรายแรกเป็นหญิงอายุ 40 ปี เดินทางมาจากยูเออี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ผ่านมาทางสนามบินนาริตะ รายที่สองเป็นผู้หญิงอายุ 50 ปี เดินทางมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ผ่านทางสนามบินฮาเนดะ ทั้งสองรายไม่มีอาการแต่อย่างใด

โดยนักเดินทางทุกคนที่เข้าญี่ปุ่น จะต้องทำการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน PCR และรอผลทันที ถ้าผลเป็นบวก จะถูกกักตัวหรือรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล ถ้าผลเป็นลบ จะให้กักตัวที่บ้านหรือสถานที่รัฐกำหนด 14 วัน
ทางการญี่ปุ่นโดยสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ ได้ทำการถอดรหัสจีโนม และยืนยันการพบไวรัสสายพันธุ์มิวในผู้หญิงสองรายดังกล่าว
สำหรับประเทศญี่ปุ่น จากการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่ระบาด พบไวรัสในกลุ่มน่าเป็นห่วง ( VOC ) ทั้งสี่สายพันธุ์คือ อัลฟา เบต้า แกมมา และเดลตา
นอกจากนั้นยังพบไวรัสที่ต้องจับตามอง ( VOI ) ทั้งแคปป้าและแลมป์ด้า ตอนนี้ก็มาพบสายพันธุ์ มิวเพิ่มอีก

โควิดสายพันธุ์ มิว ขยับเข้าใกล้ไทยมากขึ้น
โดยไวรัสสายพันธุ์มิวนี้ องค์การอนามัยโลกแจ้งว่า มีตำแหน่งของการกลายพันธุ์ (Mutation) ที่เป็นกลุ่มก้อน (Constellation) และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งหมายความว่าจะทำให้วัคซีนหรือการรักษาด้วยแอนตี้บอดี้ (Ab) ได้ผลลดลง อันจะทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคลดลงด้วย
โดยทางวิชาการพบว่า ประสิทธิผลลดลงมากเท่ากับไวรัสสายพันธุ์เบต้า
เมื่อไวรัสสายพันธุ์มิว ได้ขยับเข้าสู่ทวีปเอเชียแล้ว จึงเป็นความจำเป็นของประเทศไทย ที่จะต้องให้ความสนใจ คอยระมัดระวังและป้องกันการเข้ามาของผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศทุกรายต่อไป

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 3 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 14,653 ราย
ติดในเรือนจำ 256 ราย
สะสมระลอกสาม 1,220,277 ราย
สะสมทั้งหมด 1,249,140 ราย
หายป่วย 18,262 ราย
สะสม 1,049,540 ราย
รักษาตัวอยู่ 159,800 ราย
เสียชีวิต 271 ราย
สะสมระลอกสาม 12,280 ราย
สะสมทั้งหมด 12,374 ราย