นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้มีการอนุมัติโครงการในปีงบประมาณ 2564 ใน 5 กลุ่มย่อย จำนวน 63 โครงการ วงเงินสนับสนุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 6 โครงการ
2.กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จำนวน 13 โครงการ
3.กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ จำนวน 27 โครงการวงเงินสนับสนุน
4.กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 5 โครงการ
และ 6.กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ จำนวน 12 โครงการ โดยโครงการในกลุ่มที่ 6 เป็นโครงการที่สนับสนุนวงเงินเป็นรูปแบบเงินก้อน (Block grant) คณะกรรมการกองทุนฯ ได้กำหนดให้ผู้ได้รับการสนับสนุนและผู้ร่วมโครงการจะต้องเร่งรัดก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 180 วัน หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ถือว่าโครงการที่อนุมัตินั้นเป็นอันยกเลิกไป โดยได้กำหนดให้โครงการของทุกกลุ่มงาน สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2564 เป็นต้นไปจนจบระยะเวลาโครงการ
ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มงานที่ 5.กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร ซึ่งมีโครงการที่ผ่านเกณฑ์การกลั่นกรอง ในปีงบประมาณ 2564 รวมจำนวน 14 โครงการ ทางคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นควรให้เลื่อนโครงการออกไปก่อน เนื่องจากยังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ เช่น อบรม สัมมนา ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะตามข้อเสนอโครงการเป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบ Face to Face ทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติโครงการภายใต้กลุ่มงานลำดับที่ 7.กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 1,098 โครงการทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยกำหนดให้เริ่มขับเคลื่อนโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
“ทุกโครงการที่ได้รับการอนุมัติในงบประมาณ 2564 ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนที่โปร่งใส และเป็นธรรมอย่างรอบคอบ เพื่อผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศลดผลกระทบช่วงสถานการณ์ โควิด-19 และพัฒนาพลังงานในระดับชุมชนฐานรากให้เป็นไปตามทิศทางนโยบายพลังงานของประเทศ โดยการดำเนินการทุกโครงการจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้มาตรการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ตลอดจนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุด”