“ค่าน้ำสาธารณะ” ยังไม่จบ สทนช. โยนเผือกร้อน 3 กรมน้ำเคาะอัตราจัดเก็บทั่วปท.

12 ก.ย. 2564 | 04:02 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2564 | 13:10 น.

ยังไม่จบ “สทนช.“ จัดแบ่งน้ำสาธารณะ 3 ประเภท เรียบร้อยแล้ว โยนเผือกร้อน 3 กรมน้ำ "กรมชลประทาน-กรมทรัพยากรน้ำ-กรมทรัพยากรน้ำบาดาล” เคาะค่าน้ำ หลัง กนช. ไฟเขียว ให้เก็บเป็นรายเดือน จับตาลุ่มน้ำไหน เรียกเก็บแพงสุด

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย 9 หมวด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เว้นแต่บทบัญญัติในหมวด 4 เรื่องการจัดสรรน้ำ และการใช้น้ำ ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ส่งร่างกฎกระทรวงและประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

 

ตาม พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หมวด 4 เรื่อง การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ จำนวน 5 มาตรา  ได้แก่ มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 วรรคสอง มาตรา 48 และมาตรา 49 เข้าที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ

 

สมเกียรติ ประจำวงษ์

 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ร่างกฎกระทรวงและ ประกาศ กนช. ตามหมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ มีสาระสำคัญ ดังนี้  การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ แบ่งเป็นสามประเภท คือ  การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน

 

การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย รวมถึงการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะนอกจากที่กำหนดไว้ข้างต้น และเป็นทรัพยากรน้ำสาธารณะที่มิได้กำหนดให้เป็นการใช้น้ำประเภทที่สอง และการใช้น้ำประเภทที่สาม ให้ถือเป็นการใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง

 

การใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น ซึ่งการใช้ทรัพยากรน้ำดังกล่าว หากมีอัตราการใช้น้ำบาดาลมากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน ต่อบ่อ แต่ไม่เกิน 3,200 ลบ.ม.ต่อวันต่อบ่อ หรือมีอัตราการใช้น้ำผิวดินในแม่น้ำ ลำน้ำ คลองส่งน้ำ น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำไม่เกิน 30,000 ลบ.ม. ต่อวัน ถือเป็นการใช้น้ำประเภทที่สอง

 

ส่วนการใช้น้ำประเภทที่สาม ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง จะมีน้ำบาดาล มีการใช้น้ำในอัตราต่อบ่อเกิน 3,200 ลบ.ม. ต่อวัน ส่วน น้ำผิวดิน มีการใช้น้ำในอัตราเกิน 30,000 ลบ.ม. ต่อวัน

ผลดำเนินการจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ

 

ซึ่งการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะที่อาจส่งผลให้สมดุลของทรัพยากรน้ำสาธารณะเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ คุณภาพของทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้น หรือระบบนิเวศในลุ่มน้ำอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะของการนิคมอุตสาหกรรมขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือพื้นที่อื่นในลักษณะเดียวกัน

 

นอกจากนี้ยังมีร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. .... (ออกตามมาตรา 48) มีสาระสำคัญดังนี้  อัตราค่าธรรมเนียม ก. ใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สอง  คำขอใบอนุญาต ฉบับละ 100 บาท หนังสือรับรองการขอใบอนุญาตฉบับละ 100 บาท และใบอนุญาตฉบับละ 2,500 บาท และใบแทนใบอนุญาตฉบับละ 500 บาท คำขอต่อใบอนุญาตฉบับละ 100 บาท การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ และการโอนใบอนุญาต ฉบับละ 500 บาท

 

ในส่วนใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม ประกอบด้วย คำขอใบอนุญาตฉบับละ 100  บาท  หนังสือรับรองการขอใบอนุญาตฉบับละ 100 บาท  ใบอนุญาตฉบับละ 12,500 บาท  ใบแทนใบอนุญาต  ฉบับละ 500 บาท คำขอต่อใบอนุญาต ฉบับละ 100 บาท การต่อใบอนุญาตครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ และ การโอนใบอนุญาตฉบับละ 500 บาท

 

อย่างไรก็ดีในส่วนผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองหรือประเภทที่สาม ที่ประกอบธุรกิจอยู่ในพื้นที่ ที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากรัฐหรือเป็นกิจการที่รัฐให้การสนับสนุน ให้ได้รับการลดหย่อนโดยให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ หรือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี พิจารณาอัตราการลดหย่อนที่เหมาะสม โดยต้องชำระอัตราค่าใช้น้ำเป็นรายเดือน

 

ทั้งนี้ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำในแต่ละลุ่มน้ำพิจารณาจัดสรรและควบคุมการใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำภายใต้ลำดับความสำคัญ ดังต่อไปนี้ (1) การอุปโภคบริโภค (2) การรักษาระบบนิเวศ (3) การบรรเทาสาธารณภัย (4) จารีตประเพณี (5) การคมนาคม (6) เกษตรกรรม (7) อุตสาหกรรม  (8) พาณิชยกรรม และ (9) การท่องเที่ยว

 

“ค่าน้ำสาธารณะ” ยังไม่จบ สทนช. โยนเผือกร้อน 3 กรมน้ำเคาะอัตราจัดเก็บทั่วปท.

 

สอดคล้องกับนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. ที่กล่าวว่า เมื่อ กนช. เห็นชอบตาม ร่างฯ ดังกล่าวแล้ว สทนช. ก็จะส่งกฤษฎีกาตรวจร่างฯ แล้วจะต้องไปชี้แจงที่กฤษฎีกา จากนั้นจะส่งต่อให้กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อให้การรองรับกับร่างกฎหมายที่ออกโดย สทนช.เพื่อกำหนดการเก็บค่าน้ำอีกครั้ง

 

“อัตราการเก็บค่าน้ำแต่ละกรม (กรมชลประทาน,กรมทรัพยากรน้ำ,กรมทรัพยากรน้ำบาดาล) จะมีความแตกต่างกัน โดยต้องคำนึงว่าน้ำเพื่อยังชีพมีต้นทุนอย่างไร สภาพการใช้น้ำเป็นอย่างไร แต่ละจังหวัด คนละลุ่มน้ำ ค่าน้ำ การใช้น้ำจะมีความแตกต่างกัน  เปรียบเทียบเหมือนสินค้าคนละบริษัทก็ไม่เหมือนกัน จะต้องไปว่ากันตอนต่อไป ยกตัวตัวอย่าง ผู้ใช้น้ำกับกรมชลประทาน ที่สร้างเขื่อนใหม่ กับผู้ที่ใช้สูบน้ำใช้จากแม่น้ำ อัตราการเสียค่าน้ำก็ต้องมีความแตกต่างกัน เป็นต้น”

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,713 วันที่ 12 - 15 กันยายน พ.ศ. 2564