นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามที่ทางการสั่้งการให้สถานประกอบการต้องตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ Factory Accommodation Isolation-FAI ) โรงงานตามข้อกำหนดของทางการในจังหวัดสมุทรสาคร ต่างไปจัดตั้ง FAI ที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วทั้ง 3 อำเภอ ของจังหวัดสมุทรสาคร (ถึงกลางเดือนสิงหาคม 2564) มีประมาณ 1,514 แห่ง และมีเตียงสำหรับให้ผู้ป่วยกักตัวประมาณ 43,530 เตียง
ทั้งนี้ ในการทำเตียงผู้ป่วยแต่ละเตียงของ FAI จะมีค่าใช้จ่าย รวมค่าจัดการสาธารณูปโภคของผู้ป่วย อยู่ที่ประมาณเตียงละเกือบ 20,000 บาท เฉพาะของจังหวัดสมุทรสาครที่ได้ดำเนินการไป มีค่าใช้จ่ายรายประมาณกว่า 870,600,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการจะต้องร่วมกันแบกรับ ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายราย ที่ต้องลงทุนเรื่องการจัดหาวัคซีนทางเลือกอีก ซึ่งภาครัฐก็น่าจะมาช่วยเหลือดูแลเรื่องนี้ด้วย
“ดังนั้น หากจะใช้ FAI เป็นนโยบายทั้งประเทศ อาจจะเกินความจำเป็นสำหรับจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมไม่มาก และอาจไม่จำเป็นสำหรับจังหวัดที่มีระบบสาธารณสุข ซึ่งสามารถรองรับจำนวนประชากรและจำนวนผู้ใช้แรงงานที่มีอยู่ได้อย่างเพียงพอ”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ใน FAI ที่จังหวัดสมุทรสาคร ขณะนี้ได้บรรเทาเบาบางลง เนื่องจากมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยงมาคอยดูแล และโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง พยายามหาทางช่วยเหลือตัวเองได้
นอกจากนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธาน ยังได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 7 ก.ย.2564 ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าว
โดยโรงพยาบาล 3 แห่งของทั้ง 3 อำเภอ เป็นผู้ดำเนินการ คือ โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลกระทุ่มแบน โรงพยาบาลบ้านแพ้ว และที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งโรงงานหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่ง สามารถมาลงทะเบียนแจ้งรับการฉีดวัคซีน ให้กับแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ที่เป็นลูกจ้างของตนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นใด