วันที่ 13 กันยายน 2564 การประชุมระดับรัฐมนตรีด้าน SPS อาเซียน-จีน เป็นการดำเนินการภายใต้ MOU SPS อาเซียน-จีน โดยจัดเป็นประจำทุก 2 ปี ซึ่งเป็นโอกาสให้รัฐมนตรีจากกระทรวงที่กำกับดูแลด้านมาตรการ SPS ของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนได้ร่วมหารือในประเด็นต่างๆเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารภายในภูมิภาค และกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
รวมทั้งเป็นเวทีสำคัญในการหารือในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนด้วย โดยในครั้งนี้ ไทยและจีนได้ใช้โอกาสนี้ในการลงนามร่วมกันในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มเส้นทางขนส่งผลไม้ระหว่างไทยกับจีน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังจากการประชุม ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการความร่วมมือด้าน SPS โดยที่ประชุมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารข้ามพรมแดน ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นให้สินค้าเกษตรและอาหารมีความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค และส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างกันน้อยที่สุด
พร้อมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมืออาเซียน-จีน ด้าน SPS ประจำปี 2562-2563 ซึ่งอาเซียนและจีนได้มีความร่วมมือในหลายรูปแบบ เช่น การแลกเปลี่ยนการเยือน การจัดฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนการจัดทำฐานข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาวิจัยร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งล้วนนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารภายในอาเซียนและจีน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในร่างแผนงานความร่วมมืออาเซียน-จีน ด้าน SPS ประจำปี 2565-2566 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาในสัตว์น้ำ และร่วมกับฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมด้านการกักกันสัตว์ ณ ด่านท่าอากาศยานและด่านท่าเรือ ซึ่งผลสัมฤทธิ์สำคัญที่อาเซียนและจีนร่วมกันประกาศในการประชุมครั้งนี้ก็คือ จีนได้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลด้านมาตรการ SPS ของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนแล้วเสร็จ และเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้งานได้แล้ว
โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลกฎระเบียบและมาตรการด้าน SPS ของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นและนำไปใช้ประโยชน์ของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยจีนขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้จีนเพื่อนำไปอัพเดทลงในเว็บไซต์ดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้ประกาศความสำเร็จในการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างอาเซียนและจีนฉบับใหม่ ที่จะนำมาใช้แทน MOU ฉบับปัจจุบันซึ่งจะสิ้นอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2564 นี้ โดยขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนได้เห็นชอบในเนื้อหาของ MOU ร่วมกันเรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้ แต่ละประเทศจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศ เพื่อนำไปสู่การลงนามร่วมกันโดยการเวียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2564
รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือภายใต้ MOU SPS อาเซียน-จีน นั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างอาเซียนและจีน เนื่องจากเป็นเวทีในการหารือและดำเนินการความร่วมมือด้าน SPS และเป็นช่องทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบและมาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างอาเซียนและจีน ซึ่งไทยก็พร้อมสนับสนุนการดำเนินการความร่วมมืออย่างเต็มความสามารถ
“เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนว่า แม้ว่าในช่วงระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตจากการระบาดของโรค "โควิด-19" ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ได้ใช้ความพยายามอย่างสูงสุดในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยผลิตและส่งออก โดยปฏิบัติตามหลักมาตรการสากล เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีความปลอดภัย”นายเฉลิมชัย กล่าว
นอกจากนี้ยังไดมีการนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้ลงนามร่วมกับ Mr.Wang Lingjun รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยและจีนได้มีการลงนามพิธีสารเกี่ยวการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบก ผ่านประเทศที่สาม ทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ เส้นทาง R9 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 และเส้นทาง R3A ลงนามเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 ทั้งนี้ พิธีสารทั้ง 2 ฉบับ ครอบคลุม ผลไม้จากไทย 22 ชนิด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเส้นทาง R9 และ R3A ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัด บริเวณหน้าด่านนำเข้าของจีน โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กว่าน ซึ่งส่งผลให้รถขนส่งสินค้าติดอยู่ที่ชายแดนจีนเป็นเวลานาน ทำให้สินค้าผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ส่งไปจีนนั้นเสียหาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือแนวทางการแก้ไขปัญหากับจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 และได้เห็นชอบร่วมกัน ในหลักการจัดทำพิธีสารฉบับใหม่ เพื่อเปิดด่านนำเข้าผลไม้จากไทยไปจีนเพิ่มเติม
ต่อมาต้นปี 2563 ได้มอบหมายสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร หารือกับฝ่ายจีน เพื่อจัดทำร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามจนสำเร็จลุล่วง จึงได้มีการลงนามร่วมกันในวันนี้ ส่งผลให้มีด่านนำเข้า - ส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 16 ด่าน โดยเป็นด่านของไทย 6 ด่าน (เชียงของ มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด บึงกาฬ หนองคาย) และด่านของจีน 10 ด่าน (โหย่วอี้กว่าน โม่ฮาน ตงซิง ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านรถไฟโม่ฮาน เหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว หลงปัง เทียนเป่า และสุยโข่ว)
หลังจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ด้านการตรวจสอบกักกันพืช และออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จะดำเนินการแจ้งเวียนรายชื่อด่าน ที่จีนและไทยอนุญาตให้นำเข้าและส่งออกผลไม้ ตามพิธีสารฯ ให้กับด่านตรวจพืชต่าง ๆ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง พร้อมประกาศรายชื่อด่านดังกล่าวลงในเว็บไซต์ของกรม และจะดำเนินการประสานกับฝ่ายจีน เพื่อกำหนดแนวทางการแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืช ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างด่านนำเข้า - ส่งออก ต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไปจีนผ่านด่าน ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564
นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ไม่เฉพาะพืชผักผลไม้ ยังมีสินค้าข้าว ปศุสัตว์ และอื่นๆ โดยผ่านระเบียบและวิธีการ รวมถึงข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะอำนวยความสะดวกให้กับทุกคนที่จะทำการค้าผ่านแดนกับด่านใหม่ที่จะเปิดในครั้งนี้ นี่คือข่าวดี แล้วจะดำเนินการต่อเนื่อง แล้วจะมีการเจรจาขอเพิ่มจำนวนสินค้าให้มากยิ่งขึ้น แล้วต่อไปในวันข้างหน้า ได้ตั้งเป้าหมายไว้หากสามารถที่จะเดินทางได้โดยไม่ติดขัดในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคไวรัส “โควิด-19” จะตั้งทีมไปเจรจาการเปิดชนิดสินค้าให้มากขึ้น เป็นสินค้าเกษตรของไทยทุกชนิด
"เชื่อมั่นว่าตลาดของประเทศจีนยังเปิดกว้างสำหรับสินค้าภาคเกษตรของไทย และการเปิดด่านที่มากขึ้น จะสามารถส่งออกได้มากขึ้น ความเสียหายก็จะน้อยลง การจราจรติดขัดปัญหาจะน้อยลง หรือแทบจะไม่มี ส่วนปัญหาราคาตกต่ำของลำไย และมังคุดเกิดปัญหาแค่ระยะสั้น รวมถึงล้งที่มีปัญหาเพลี้ยลำไย ก็สามารถแก้ปัญหาได้ภายในวันเดียวเท่านั้น ทางจีนได้ยอมรับเงื่อนไข เจรจาสำเร็จ ล้งที่ไม่มีปัญหาสามารถส่งออกได้ตามปกติ"
สำหรับ การส่งออกผลไม้ไทยไปจีน เฉพาะที่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช โดยผ่านเส้นทาง เส้นทาง R9 (มุกดาหาร, นครพนม - โหย่วอี้กวน) และ R3A (เชียงของ-โม่ฮาน) พบว่า ไทยมีปริมาณการส่งออกและมูลค่าเติบโตต่อเนื่อง จะเห็นได้จาก 3 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี และมูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 50 ต่อปี โดยปี 2561 ส่งออกผลไม้ผ่าน R9 และ R3A รวมปริมาณ 421,657 ตัน มูลค่า 17,857 ล้านบาท
เทียบกับปี 2564 ระยะเวลา 8 เดือน (มกราคม – 7 กันยายน 2564) ส่งออก 691,653 ตัน มูลค่า 66,370 ล้านบาท นี่แค่เฉพาะ 2 เส้นทางเท่านั้น ส่วนผลไม้ที่ส่งออกมากที่สุด ทุเรียน มังคุด และลำไย คาดว่าหลังจากทำพิธีสารมูลค่ากับจำนวนสินค้า ต้องเพิ่มขึ้นและมีเป้าหมาย ในปี 2565 ในจำนวน 10 ด่าน คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี (พิธีสารลงนามตั้งแต่ ปี 2552)
ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า สำหรับตัวกรอบยังยึด 22 ชนิด จะมีชนิดหลักที่ออกจำนวนมาก อาทิ ทุเรียน มังคุด และลำไย 3 ชนิดรวมกันมากกว่า 90% ที่ส่งออกไปจีน นอกนั้นตัวอื่นที่เริ่มเด่นขึ้นมา และเริ่มมีการส่งออกมากขึ้น เช่นมะพร้าวอ่อน ปี2563 ส่งออกพันล้านบาท ส่วนตัวอื่นๆ ที่เริ่มตามมา เช่น ขนุน กล้วย ส้มโอ มะม่วง และมะขามหวาน เป็นต้น ซึ่ง อยู่ในจำนวน 22 ชนิด ในอนาคตจะเพิ่มตัวอื่นๆ ที่เด่นๆ เพื่อรักษายอดการส่งออกให้โตอยู่เรื่อยๆ ปีหนึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 1 แสนล้าน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการฯ
“ในปีที่แล้ว 2563 ส่งผลไม้ไปจีน 1.02 แสนล้านบาท ในปี 2563 นำเข้าผลไม้จากจีนอยู่ 30,735 ล้านบาท เพราะฉะนั้นผลไม้เราได้ดุลจีน 7.2 หมื่นล้าน ส่วนปี 2564 ตัวเลข 8 เดือน 1.01 แสนล้านล้านบาท ส่วนของจีนตัวเลขยังไม่สรุป คาดการณ์ว่าตัวเลขประมาณใกล้เคียงกับปีที่แล้ว สรุปแล้วในเรื่องผลไม้มีการส่งออกมากกว่าการนำเข้า ประมาณ 3 เท่า ส่วนชนิดที่นำเข้าจากประเทศจีน ได้แก่ แอปเปิ้ล สาลี่ องุ่น และ ส้ม แต่ละตัวมูลค่าประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ขณะที่ทุเรียนไปจีน ปี2564 มูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเปรียบเทียบ “ไทย-จีน “ “
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการลงนามพิธีสาร นอกจากจะทำให้มีด่านส่งออกและนำเข้าทั้งจากไทยและจีนมากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการไทย ยังมีทางเลือกในการใช้เส้นทางขนส่งเพิ่มขึ้น สามารถเลือกใช้เส้นทางที่สะดวกและเหมาะสม นำมาซึ่งการลดต้นทุน การขนส่งสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ไทย เป็นผลไม้เมืองร้อน มีอายุการเก็บรักษาสั้น
ดังนั้น การขยายด่านขนส่ง จึงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตร ให้สามารถกระจายไปยังมณฑลต่างๆ ของจีนได้อย่างทั่วถึงในระยะอันสั้น และจัดส่งได้รวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือที่สำคัญเป็นการสร้างโอกาสให้กับพี่น้องเกษตรกร เพราะเมื่อมีการส่งออกกระจายสินค้าได้รวดเร็ว ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรไทยมีราคาที่ดีไปด้วย อีกทั้งผู้บริโภคจีน ยังได้มีโอกาสบริโภค ลิ้มลองรสชาติผลไม้ไทยได้จำนวนมากและหลากหลายชนิดมากขึ้น