“หมอนทอง” รับมืออย่างไรเมื่อคู่แข่งรุกหนักชิงตลาดทุเรียนจีน

14 ก.ย. 2564 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2564 | 12:56 น.

ตลาดทุเรียนมังกรเดือด “สมาคมทุเรียนไทย” ประเมินศักยภาพโอกาส ปัญหา ความท้าทาย เผชิญศึกหลายด้าน ทั้งคู่แข่งเดิม “มาเลเซีย” น้องใหม่ “สปป.ลาว” ส่งปี65 ยังมีปลูกมณฑลไห่หนาน นำพันธุ์ “หมอนทอง” ไทย- “มูซางคิง” มาเลเซีย ปลูกกันพรึบ ผวาอนาคตโดนแย่งลูกค้า

สมาคมทุเรียนไทย โพสต์ถึงสถานการณ์ จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่สำคัญของไทย ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่สามารถทดแทนด้วยผลไม้ชนิดอื่นได้ โดยชาวจีนจัดให้ทุเรียนเป็น  “水果王” (สุยกั่วหวัง) หรือ “King of Fruit” เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ด้วยลักษณะเฉพาะและคุณภาพของทุเรียนไทยทำให้ผู้บริโภคชาวจีนตอบรับและนิยมรับประทานทุเรียนเพิ่มมากขึ้น ในนครกว่างโจวสามารถพบเห็นร้านและบูธจำหน่ายทุเรียนไทยโดยเฉพาะ กระจายอยู่ทั่วไปในช่วงที่ทุเรียนไทยออกผลผลิต นอกจากนี้ร้านอาหารและภัตตาคารในจีนก็มีการนำทุเรียนไปประยุกต์ในเมนูอาหารคาวและหวานด้วย เช่น พิซซ่าทุเรียน พัฟท์ ทุเรียน พายทุเรียน เป็นต้น

 

ในปัจจุบันจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากประเทศไทยเท่านั้น ในขณะที่อนุญาตให้นำเข้าทุเรียนแช่แข็งได้จากประเทศไทยและมาเลเซีย ทั้งนี้ จีนและมาเลเซียได้มีการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการตรวจกักกันทุเรียนมาเลเซียแช่แข็งที่ส่งเข้าจีน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ซึ่งนอกจากเนื้อทุเรียนแช่แข็งแล้ว ยังได้รวมทุเรียนติดเปลือกแช่แข็งทั้งลูกที่เป็นไปตามข้อกำหนดฯ ในพิธีสารด้วย

 

หลังจากนั้นทางศุลกากรแห่งชาติจีนจึงได้ดำเนินเรื่องการตรวจรับรองสวนและโรงคัดบรรจุทุเรียนแช่แข็งของมาเลเซีย และได้ประกาศเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ว่าทุเรียนแช่แข็งของมาเลเซียทั้งลูก (รวมติดเปลือก) ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดในการตรวจกักกันสามารถนำเข้าจีนได้ โดยปัจจุบันมีโรงคัดบรรจุทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกของมาเลเซียที่ได้รับขึ้นทะเบียนส่งออกมาจีน จำนวน 16 ราย

โอกาส ปัญหา และความท้าทายของสินค้าผลไม้ไทยในตลาดจีน

 

ประเทศจีนถือเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่ด้วยประชากรกว่า 1,400 ล้านคน โดยในแต่ละปีผู้บริโภค จีนมีความต้องการบริโภคผลไม้ค่อนข้างมาก ซึ่งแม้ว่าจีนจะเพาะปลูกผลไม้ในท้องถิ่นได้ปริมาณมหาศาล แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด จึงจำเป็นต้องนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ เนื่องจากผลไม้เมืองร้อนมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์จึงทำให้เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคจีน โดยไทยเป็นประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ส่งผลไม้สดเข้าสู่ตลาดจีนได้มากที่สุดถึง 22 ชนิด ความนิยมผลไม้ไทยในกลุ่มผู้บริโภคจีนเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งมีปัจจัยหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวไทย

 

โดยนักท่องเที่ยวจีนได้รู้จักและลิ้มลองรสชาติผลไม้ไทยมากขึ้นในระหว่างการท่องเที่ยว และเมื่อเดินทางกลับประเทศจีนแล้วก็มักจะนิยมซื้อสินค้าผลไม้แปรรูปเป็นของฝากให้ญาติมิตร ซึ่งเป็นผลให้ผู้บริโภคจีนได้รู้จักผลไม้ไทยในวงกว้างมากขึ้น

 

ปัจจุบัน แม้ว่าผลไม้ไทยหลายชนิดจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี ยังอาจต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทาย ซึ่งจะต้องเร่งปรับปรุงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผลไม้ไทยสามารถติดตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการนำเข้าและจัดจำหน่ายผลไม้ไทยในนครเซี่ยงไฮ้ รวมถึงการสอบถามผู้บริโภคจีนบางส่วนในเซี่ยงไฮ้และมณฑลใกล้เคียง สามารถสรุปโอกาส ปัญหา และความท้าทายของสินค้าผลไม้ไทยในตลาดจีนได้ดังนี้

ปัญหาและอุปสรรค

1.คุณภาพและรสชาติทุเรียนไม่คงที่เนื่องจากการเก็บผลผลิตก่อนระยะเวลาที่สมควร เกิดปัญหา “ทุเรียนอ่อน” ซึ่งเนื้อในยังไม่สุก อีกทั้งเคยตรวจพบเพลี้ยแป้งบนเปลือกทุเรียนหรือหนอนในผลทุเรียนสด ซึ่งสร้างประสบการณ์ไม่ดีให้แก่ผู้บริโภค และอาจส่งผลให้มิกล้าซื้อทุเรียนซ้ำเป็นครั้งที่สอง นอกจากนี้ ยังมีข่าวสารในแง่ลบเกี่ยวกับการเคลือบน้ำยาบนผลทุเรียนบนเว็บไซต์ออกมาเป็นระยะ ๆ

 

2.ผู้บริโภคจีนมักนิยมรับประทานทุเรียนแบบสุกมาก โดยที่ทุเรียนสดเก็บไว้ได้ไม่นานมากในสภาพอุณหภูมิปกติ จึงทำให้มีทุเรียนเปลือกแตก เน่าเสีย และส่งกลิ่นเหม็นวางขายในท้องตลาดจีน ซึ่งถือเป็นการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทย และเป็นการสร้างทัศนคติแง่ลบมากขึ้นต่อผู้บริโภคจีนที่ยังไม่เปิดใจยอมรับทุเรียน

 

 ความท้าทาย

1. ปัจจุบัน "มาเลเซีย" เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่สามารถส่งทุเรียนสดเข้าสู่ตลาดจีนได้ แต่จีนอนุญาตให้มาเลเซียส่งทุเรียนแช่แข็งทั้งผล (รวมเปลือก) เข้าสู่ตลาดจีนได้แล้ว ซึ่งมาเลเซียได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตป้อนสู่ตลาดจีน อีกทั้งได้ทำการตลาดอย่างมีระบบ มุ่งเน้นสร้างแบรนด์ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และคุณภาพทุเรียนแช่แข็งอย่างต่อเนื่อง

 

2. "ฟิลิปปินส์" และ "เวียดนาม" พยายามผลักดันการส่งออกทุเรียนสู่ตลาดจีน ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจีนจะยังไม่อนุญาตให้ทั้งสองประเทศส่งทุเรียนเข้าสู่ตลาดจีน แต่ในอนาคตอาจกลายเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งของไทย

 

3. "มณฑลไห่หนาน" ทางตอนใต้ของจีนประสบความสำเร็จในการทดลองปลูกทุเรียนหมอนทองของไทยและทุเรียนมูซางคิงของมาเลเซียแล้ว ซึ่งในอนาคตทุเรียนท้องถิ่นอาจกลายเป็นคู่แข่งของไทยได้ เนื่องจากเทคโนโลยีการเกษตรที่ล้ำหน้าของจีน

 

ปัจจุบันทุเรียนไทยมีคู่แข่งมากขึ้น ทางสมาคมทุเรียนไทยได้ติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้ทุเรียนไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า ทางการ "สปป.ลาว" กำลังเจราพิธีสารเพื่อขออนุญาตส่งออกทุเรียนผลสดเข้าจีน ซึ่งคาดว่าจะมีผลในทางปฏิบัติได้ในฤดูการเก็บเกี่ยวปี 2565  ดังนั้นปีหน้าจะเป็นหนึ่งประเทศที่เข้าไปเพิ่มการแข่งขันในประเทศจีน