สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) รายงานโดยระบุว่านางกิ่งแก้ว จันทะลังสี ผู้อำนวยการบริษัท บอลิคำไซ การฟาร์มพัฒนาส่งเสริมกสิกรรม จำกัด กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีสินค้าต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาใน สปป.ลาว เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันค่อนข้าง สูงจึงตัดสินใจทำธุรกิจผลิตสินค้าเกษตรตามแนวทางการส่งเสริมของพรรคและรัฐบาล สปป.ลาว ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศชาติ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน
ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการนำเข้าทุเรียนจากต่างประเทศของจีนสูงถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในอนาคตคาดว่า สปป.ลาว และเวียดนามจะส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศเช่นกัน โดยมีจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกรองรับ สาเหตุที่ทำให้การส่งออกทุเรียนของสปป.ลาวเติบโต เนื่องจาก สปป.ลาว มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ โดยได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าจาก 16 ประเทศ เช่น จีน อิตาลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เองก็มีตลาดจีนรองรับแล้ว สำหรับพันธุ์ทุเรียนและขนุนที่ใช้ปลูกจะนำเข้าจาก ต่างประเทศ โดยได้ปลูกไปแล้วบางส่วน คาดจะสามารถส่งออกทุเรียนได้ในปี 2567 ปัจจุบัน สปป.ลาว มีพื้นที่ปลูกทุเรียนที่แขวงจำปาสัก โดยเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองและหมอนทอง โดยเริ่มมีนักลงทุนชาวจีนขอสัมปทานที่ดินจากรัฐบาลเพื่อปลูกทุเรียน ประมาณ 20,000 – 30,000 ไร่
สคต.เวียงจันทน์ ระบุว่า ปัจจุบัน สปป.ลาว เริ่มทำการเกษตรมากขึ้น เพื่อลดการนำเข้า ประกอบกับรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้หันมาประกอบอาชีพในประเทศ ทั้งนี้ สปป.ลาว ยังมีพื้นที่อีกจำนวนมากที่สามารถทำการเกษตร จึงเป็นช่องทางหนึ่งให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะจีน ที่เข้ามาขอสัมปทาน ซึ่งในอนาคตอาจจะกระทบกับการส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยหลาย ๆ รายการ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล้วย ทุเรียน พืชผักทางการเกษตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จีน ไฟเขียว “ทุเรียน” ส่งออก หลัง "โควิด-19" ระบาดไทยระลอกใหม่
“จีน” โต้ข่าว แบน “ทุเรียน” ไทย
“ทุเรียนใต้” ราคาหน้าสวนพุ่ง 170 บาท/กก.