“พาณิชย์”วาง5แนวทางขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์การค้าไทย5ปี

14 ก.ย. 2564 | 10:26 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2564 | 17:34 น.

“พาณิชย์” เปิดรับฟังความเห็น ร่างยุทธศาสตร์การค้าไทย 5ปี  ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์หลัก เน้นขับเคลื่อนการค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า ส่งเสริมการค้าไทยสู่ตลาดโลก ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และพัฒนาทุนมนุษย์

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าของไทยปี 2565-70 ว่า สนค.ได้ร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางการค้า ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ เพื่อจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ.2565–2570

“พาณิชย์”วาง5แนวทางขับเคลื่อน  ยุทธศาสตร์การค้าไทย5ปี

ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 โดยเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วหลายครั้ง ขณะนี้ยังเปิดรับฟังความเห็นอยู่ และเมื่อรับฟังความเห็นเสร็จสิ้นแล้ว จะนำความเห็นเหล่านี้มาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์และนำเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นชอบ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป 

 สำหรับร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้กำหนดวิสัยทัศน์ คือ การค้าไทยเข้มแข็ง เติบโตอย่างทั่วถึ ง และยั่งยืน รองรับโอกาสการค้าโลก ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ขับเคลื่อนการค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยให้ผู้ประกอบการสร้าง ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องตลาดโลก ดึงดูดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมศักยภาพ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล 
 

2.พัฒนาโครางสร้างพื้นฐานการค้าให้เข้มแข็ง โดยพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสขยายตลาด ปรับปรุงกฎระเบียบให้สะดวกขึ้น เป็นภาระกับผู้ประกอบการน้อยลง และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดการบูรณาการและขับเคลื่อนประเด็นการค้า 

3.ส่งเสริมการค้าไทยสู่ตลาดโลก โดยสร้างโอกาสทางการตลาดและเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า พัฒนาตลาดและช่องทางการค้าในอาเซียน สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการของไทย และส่งเสริมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีและธุรกิจบริการสมัยใหม

4.ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยขยายตลาดและช่องทางการค้าในประเทศ สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมการใช้สินค้าและบริการที่ผลิตได้ในประเทศ5.พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ โดยพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมศักยภาพ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง 
  ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้น สะท้อนความท้าทาย ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเน้นการสร้างขีดความสามารถและความพร้อมที่จะรับมือ ฟื้นตัว และใช้ประโยชน์จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง ต่อยอดและใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่โดดเด่นของไทย รวมถึงการสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ด้วยการใช้นวัตกรรม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และยังเน้นพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเกิดความยั่งยืน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการชุมชน และท้องถิ่น สามารถพึ่งพาตนเองและเชื่อมโยงกับตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกัน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงผู้ประกอบธุรกิจการค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด