‘ชายแดน’ เปิด6พื้นที่เช่าตั้งโรงงานเคลื่อนเศรษฐกิจ

15 ก.ย. 2564 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2564 | 14:52 น.

รัฐบาลมีนโยบายตั้งแต่ ต้นปี 2558 ให้เร่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 พื้นที่ เป้าหมายเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค จัดระเบียบความมั่นคงชายแดน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามยุทธ ศาสตร์เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านประชาคมอาเซียน(AEC)

โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนในด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน การจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านการบริหารจัดการแรงงาน และการลงทุน การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร 
    

ขณะที่การจัดหาพื้นที่พัฒนา เพื่อนำร่องการลงทุน ซึ่งปัจจุบันเอกชนและ กนอ. ได้เช่าพื้นที่พัฒนา แล้ว 6 พื้นที่ ส่วนมุกดาหารและหนองคาย อยู่ระหว่างเสนอ กพศ.พิจารณารูปแบบเพื่อดึงดูดการลงทุน

ส่วนที่เชียงรายไม่ต้องจัดหาที่ดินรัฐให้เอกชนเช่า และนราธิวาสทางศอ.บต. อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลขอตั้งงบซื้อที่ดินเอกชน มาตั้งนิคมอุตสาหกรรมฯ มีรายละเอียดดังนี้

6 พื้นที่เข้าพัฒนาแล้ว

1.สระแก้ว  เกิดการลงทุนแล้ว 6 โครงการ วงเงิน1,960 ล้านบาท จากโครงการที่ขอบีโอไอ 9 โครงการ วงเงิน 7,792 ล้านบาท ธุรกิจตั้งใหม่ 133 ราย วงเงิน 296.63 ล้านบาท พื้นที่ที่ได้รับการพัฒนา 2 ส่วน คือ กนอ.ก่อสร้างนิคมฯ แล้วเสร็จ และเปิดให้นักลงทุนเข้าใช้แล้วตั้งแต่ปี 2562 กรมศุลฯปรับปรุงด่านอรัญประเทศ (บ.ป่าไร่) เสร็จเมื่อปี 22563 ส่วนด่านบ้านหนองเอี่ยน กำหนดแล้วเสร็จปี 2565

2.สงขลา มีการลงทุนแล้ว 8 โครงการ วงเงิน  2,453 ล้านบาท จากโครงการที่ขอบีโอไอ.18 โครงการ วงเงิน 9,113 ล้านบาท  มีธุรกิจตั้งใหม่ 304 ราย  วงเงิน 1,071.57 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่พัฒนาส่วนที่ 1 กนอ.สร้างนิคมฯแล้วเสร็จเมื่อมี.ค. 2564 

ส่วนที่  2.กนอ.ออกแบบนิคมฯและจัดทำEIAเสร็จแล้ว ปันจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาราษฎรครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดิน เมื่อแล้วเสร็จจะให้กนอ.เช่าต่อไป และเทศบาลตำบลสำนักขาม ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ 19-3-28.3 ไร่ เพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลา กับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 
    

การพัฒนาส่วนที่ 3 อบจ.สงขลาปรับพื้นที่ก่อสร้างศูนย์คมนาคมขนส่ง และศึกษารูปแบบการลงทุนแล้วเสร็จ คาดจะเริ่มก่อสร้างปี 2565  การลงทุนและผลทางเศรษฐกิจ10เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

3.  ตราด  มีผู้ยื่นขอบีโอไอ 2 โครงการ วงเงิน 280 ล้านบาท เกิดธุรกิจตั้งใหม่ 74 ราย  วงเงิน 111.18 ล้านบาท พื้นที่พัฒนา 1 โครงการ 3,001 ล้านบาท  โดยบริษัท  พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (ลงนามสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์ เมื่อ 23 พ.ย. 2559  ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับแผนการดำเนินงาน เพื่อเริ่มก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน และในระยะต่อไปจะพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวนานาชาติ และบริการการค้าระหว่างประเทศครบวงจร ขณะที่การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 ช่วง ตราด – หาดเล็ก ตอนแยก ต.ไม้รูด -บ.คลองจาก กำหนดแล้วเสร็จปี 2565

4.นครพนม เกิดการลงทุนแล้ว 1 โครงการ วงเงิน 15 ล้านบาท จากที่ขอรับการส่งเสริมฯ 2 โครงการ วงเงิน 58 ล้านบาท มีธุรกิจตั้งใหม่ 476 ราย วงเงิน 889.44 ล้านบาท ความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล  จำกัด ลงนามสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์เมื่อ 15 ก.ค. 2562 เตรียมเข้าใช้พื้นที่ เพื่อพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พาณิชยกรรม ศูนย์กระจายสินค้า SMEs OTOP และอุตสาหกรรมทั่วไป ส่วนการลงทุนศูนย์การขนส่งชายแดน จังหวัดนครพนม กำหนดเสร็จปี 2567

5.กาญจนบุรี  มีการลงทุน 4 โครงการ วงเงิน 723 ล้านบาท จากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯ 6 โครงการ วงเงิน 945 ล้านบาท เกิดธุรกิจตั้งใหม่  93 ราย วงเงิน 155.21 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่  บริษัท พร้อมเพรียงชัย ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งลงนามสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์เมื่อ 13 พ.ย. 2561 เพื่อพัฒนาโครงการลงทุนด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและโลจิสติกส์  เตรียมเข้าใช้พื้นที่ แต่ยังมีราษฎรครอบครองใช้ประโยชน์  โครงสร้างพื้นฐานสำคัญคือ ทางหลวงหมายเลข 81  บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี กำหนดแล้วเสร็จปี 2565

6.ตาก เกิดการลงทุนแล้ว  25 โครงการ วงเงิน 2,417 ล้านบาท จากที่ขอรับการส่งเสริมฯ  37 โครงการ วงเงิน 4,050 ล้านบาท มีธุรกิจตั้งใหม่ 1,168 ราย  วงเงิน 2,480.50 ลบ. กรมศุลกากรจัดตั้งเขตปลอดอากรประเภทอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม

ส่วนความคืบหน้าพื้นที่พัฒนาเพื่อให้เอกชนมาเช่าลงทุนนั้น แปลงที่ 1 กรมธนารักษ์เตรียมเปิดประมูลให้เอกชนลงทุนโดยตรง อีกแปลงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)เสร็จแล้ว คาดจะเริ่มก่อสร้างปี 2565

2 พื้นที่รอเสนอ กพศ. พิจารณา 
7.มุกดาหาร มีการลงทุนแล้ว 3 โครงการ วงเงิน 342 ล้านบาท  จากที่ขอบีโอไอ  4 โครงการ  วงเงิน 350 ล้านบาท มีธุรกิจตั้งใหม่ 662 ราย วงเงิน 1,268.80 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่อยู่ระหว่างยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พิจารณาแนวทางสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ราชพัสดุต่อไป การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถนนสาย มห. 3019  แยกทางหลวงหมายเลข 212 – อ.เมือง จ.มุกดาหาร  ตอน 1 เสร็จปี 2566 และตอน 2 เสร็จปี 2567: ถนนสาย มห. 3019 

8.หนองคาย มีการลงทุนแล้ว 3 โครงการ วงเงิน 420 ล้านบาท จากโครงการที่ขอบีโอไอ. 6 โครงการ วงเงิน 1,336 ล้านบาท เกิดธุรกิจตั้งใหม่ 809 ราย วงเงิน 1,445.58 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พิจารณาแนวทางสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ราชพัสดุต่อไปเช่นกัน ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทางหลวงหมายเลข 211 แยกสาย 2 (บ.หนองสองห้อง)-อ.ท่าบ่อ-อ.ศรีเชียงใหม่ ตอน 2  เสร็จปี 2564 และการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหนองคาย ฝั่งตะวันออก เสร็จปี 2566

รูปแบบพิเศษ 2 พื้นที่
9.เชียงราย เกิดการลงทุนแล้ว 5 โครงการ วงเงิน 176 ล้านบาท จากที่ขอรับการส่งเสริมฯ 7 โครงการ วงเงิน 226 ล้านบาท มีธุรกิจตั้งใหม่ 1,069 ราย วงเงิน 1,799.40 ล้านบาท โดยให้การส่งเสริมและสนับสนุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และมาตรการทางผังเมือง โดยไม่ต้องมีการจัดหาที่ดินของรัฐ ส่วนทางหลวงหมายเลข 1021 ช่วง อ.เทิง-อ.ดอกคำใต้ ตอน อ.เชียงคำ-อ.เทิง กำหนดเสร็จปี 2566

10.นราธิวาส  มีการลงทุนแล้ว 2 โครงการ วงเงิน 152 ล้านบาท จากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯ 3 โครงการ วงเงิน 172 ล้านบาท ภายใต้นโนบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เกิดธุรกิจตั้งใหม่ 187 รายวงเงิน 304.72 ล้านบาท ความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ ศอ.บต. จังหวัดนราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้อที่ดินเอกชน จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมนราธิวาส กำหนดเสร็จ 2566

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,714 วันที่ 16-18 กันยายน พ.ศ.2564