บึงกาฬเฮ สภาพัฒน์ส่งสัญญาณตั้ง‘เขตศก.พิเศษ’ใหม่ 

05 ส.ค. 2564 | 21:25 น.

     บึงกาฬอนาคตใส สภาพัฒน์ส่งสัญญาณเตรียมประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแห่งใหม่ พร้อมมอบหมาย มทร.อีสานสกลนคร ศึกษาความเป็นไปได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบึงกาฬ บนเนื้อที่กว่า 4,700 ไร่ ที่เตรียมไว้สร้างสนามบิน เล็งอุตสาหกรรมแปรรูปยาง-อาหารป้อนมณฑลจีนตอนใต้

หลังได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดแล้ว ภาคเอกชนพื้นที่บึงกาฬพยายามผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ บนเนื้อที่ 4,700 ไร่ ผ่านทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เมื่อปี 2558 แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้า ล่าสุด นายเจตน์ เกตุจำนง ประธานสหกรณ์เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ และนักธุรกิจในพื้นที่ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ภาคเอกชนในพื้นที่บึงกาฬมีกำลังใจยิ่งขึ้น เมื่อได้รับสัญญาณจากสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือสภาพัฒน์) ว่าให้ทางจังหวัดเตรียมตัวรับการประกาศจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนบึงกาฬ
     

ทั้งนี้ ทางจังหวัดบึงกาฬได้ประชุมร่วมกับทางสภาพัฒน์มาแล้วหลายครั้ง หลังสุดได้รับแจ้งให้เตรียมตัวดังกล่าว พร้อมกันนี้จะมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)อีสาน สกลนคร เป็นผู้ศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ บนพื้นที่สาธารณะ 4,700 ไร่ ที่เดิมเตรียมไว้สำหรับจัดสร้างสนามบินบึงกาฬ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ โดยมทร.อีสานอาจรับเป็นผู้ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมบึงกาฬเองเลย เนื่องจากสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้
  นายเจตน์ เกตุจำนง ประธานสหกรณ์เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ     
เบื้องต้น ทางจังหวัดบึงกาฬได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผลักดันจัดตั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีร่วมกับมทร.อีสาน สกลนคร บนเนื้อที่สาธารณ ประโยชน์ประมาณ 500 ไร่เศษ เพื่อเป็นหน่วยงานศึกษาวิจัยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรม มาต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรและเกษตรแปรรูปในพื้นที่ ทั้งผลิตภัณฑ์จากยางพารา และพืชผักผลไม้และผลิตผลทางการเกษตร เป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของจังหวัด โดยหากสถาบันวิจัยฯนี้ขับเคลื่อนไปได้ก็พร้อมจะเติบโตเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรด้านอุตสาหกรรมของบึงกาฬต่อไปในอนาคต
     

นายเจตน์ กล่าวอีกว่า หากสามารถจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ จะเป็นการสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการจะเข้ามาลงทุนในจังหวัดบึงกาฬมากขึ้น

 

โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร พืชเศรษฐกิจยางพารา พืชแปรรูปอาหาร เพราะพื้นที่บึงกาฬมีความเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจการเกษตรทุกชนิดได้เป็นอย่างดี ยิ่งได้รับการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ยิ่งจะสร้างโอกาสดึงดูดนักลงทุนทั้งในพื้นที่ ในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศจีน ที่ได้มีการสอบถามเข้ามาจำนวนมากแล้ว และส่วนหนึ่งก็เข้ามาลงทุนในการรับซื้อผลผลิตพืชการเกษตร พืชเศรษฐกิจที่สำคัญๆ เช่น ยางพารา อยู่แล้วในเวลานี้
    

“หากแผนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบึงกาฬ และจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบึงกาฬ เกิดเป็นผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ จะขับเคลื่อนบึงกาฬให้เป็นฐานผลิตอีกแห่งที่มีประสิทธิภาพ คล่องตัว สะดวกสบายในการลงทุนในรูปแบบ One Stop Services อีกแห่งของประเทศ


 

โดยก้าวแรกเราหวังตลาดเป้าหมายจีนตอนใต้สัก 2-3 มณฑล เพื่อสร้างโอกาสและความมั่นคงทั้งด้านการค้าขาย และเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดได้เพียงพอแล้ว”
     

รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ชายแดนมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อจัดระเบียบและเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน ปัจจุบันได้รับการประกาศแล้วมี 10 พื้นที่ ในจังหวัดเชียงราย ตาก หนองคาย นครพนม มุกดาหาร สระแก้ว ตราด กาญจนบุรี สงขลา และนราธิวาส มีการลงทุนของเอกชนและกนอ.ในเขตพัฒนาศก.พิเศษชายแดนแล้วรวม 25,841 ล้านบาทเศษ มีแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในพื้นที่ 456,052 คน เป็นแบบไปกลับหรือตามฤดูกาล 400,465 คน

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,702 วันที่ 5-7 สิงหาคม พ.ศ.2564