วันที่ 18 ก.ย. 2564 ที่บ้านร่องศาลา ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ 1,600 ไร่ ในจังหวัดเชียงราย
โดยมี นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา ประธานบริษัท ไทยเฮมพ์ เวลเนส จำกัด ดร.เสฐียรพงศ์ แก้วสด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ พล.อ.สุทัศน์ จารุมณี, ดร.เพิ่มศักดิ์ สุภาพรเหมินทร์, รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ กรรมการมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งนายยืนยง โอภากุล หรือ "แอ๊ด คาราบาว" ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต-ศิลปินแห่งชาติ และผู้บริหารเครือคาราบาวกรุ๊ป รวมทั้งเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรม
โดยแปลงปลูกกัญชงดังกล่าว มีเนื้อที่ 5 ไร่ ได้รับอนุญาตปลูกรายแรก เป็นแปลงของนายศิริชัย ใจแปง ตามเลขที่ใบอนุญาต ชร 171/2562 (ป) พื้นที่หมู่ 3 ต.ดงมะดะ โดยใช้เวลาเพาะปลูก 4 เดือนจึงเก็บผลิต และจะส่งจำหน่ายให้บริษัทเพื่อนำไปสกัดสาร CBD และส่งให้กับเอกชนรายต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายเริ่มเก็บผลิตแปลงแรกในเดือน พ.ย.นี้ และนำไปสกัดให้ได้ผลผลิตในปี 2565 ชุดแรกนำร่องประมาณ 4.5 ตัน และจำหน่ายให้กับเอกชนที่จะนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ ตันละประมาณ 100,000-150,000 บาท
นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเอกชนมีการขับเคลื่อนเชิงรุกที่รวดเร็ว และเชื่อว่าการขับเคลื่อนในลักษณะนี้มาถูกทางแล้ว ซึ่งในนามหน่วยงานภาครัฐก็จะช่วยส่งเสริมให้ได้รับการอำนวยความสะดวก
โดยเฉพาะกรณีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อตั้งมาร่วม 125 ปีแต่เกษตรกรไทยก็ยังไม่มีรายได้แบบก้าวกระโดด ดังนั้น โครงการนี้จึงถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์และเป็นต้นแบบเพื่อการนำร่องต่อไป
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา ประธานกรรมการ บริษัทไทยเฮมพ์ เวลเนส จำกัด กล่าวว่า พื้นที่เชียงรายถือเป็นแห่งแรกที่มีการปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ โดยบริษัทมีแผนจะส่งเสริมการปลูกในช่วงแรก 1,600 ไร่ก่อน จากนั้นภายใน 5 จะเพิ่มให้เป็น 100,000 ไร่ ในลักษณะเปิดให้เกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมรายละ 5 ไร่ คาดว่าปีแรกจะมีพื้นที่ปลูก 1,600 ไร่ และขยายทุกปีโดยปีที่ 2 มี 30,000 ไร่ ปีที่ 3 เป็น 40,000 ไร่ ปีที่ 4 เพิ่มเป็น 60,000 ไร่ และเป็นถึง 100,000 ไร่ในปีที่ 5
หากเกษตรกรดูแลอย่างดีจะสร้างรายได้จากการเก็บผลผลิตขายได้ กิโลกรัมละ 40 บาท หรือไร่ละ 50,000 บาท ปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง รวมเป็น 100,000 บาทต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกข้าวโพดถึง 100 ไร่ ที่ต้องเผาหลังเก็บผลผลิต ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันประจำทุกปี
การปลูกกัญชงกับบริษัทเป็นไปอย่างยั่งยืน เพราะเกษตรกรจะส่งผลผลิตให้บริษัทนำไปเข้าโรงงานสกัดสาร CBD จากนั้นบริษัทจึงส่งต่อให้กับเอกชนที่นำไปทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต่อไป ตราบใดที่ยังห้ามนำเข้าสารสกัด CBD โอกาสขยายการปลูกยังมีอีกมาก
ขณะที่ ดร.เสฐียรพงศ์ แก้วสด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยเฮมพ์ฯ เวลเนส จำกัด กล่าวว่า กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมีสาร CBD ที่ดีต่อสุขภาพ สามารถนำไปต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์หลากหลาย ช่วยเพิ่มรสชาติและคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
โดยการปลูกกัญชงในเขียงราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานสกัดของบริษัทเองด้วย เป็นที่รู้จักของเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้ทราบแนวทางการผลักดันทางด้านธุรกิจ เพื่อเตรียมการได้ตั้งแต่การปลูก ผลิต สกัด ไปจนถึงทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งขายทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบันมีความต้องการใช้กัญชงสูงถึงปีละ 6,500 ตัน และเชื่อมั่นว่าในปี 2565 ความต้องการจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 7,500 ตันอย่างแน่นอน โดยพืชเศรษฐกิจเวลานี้ที่รัฐอนุญาตให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ 2 ชนิด คือ 1.กัญชง มี สาร CBD สูง และถูกต้องตามกฎหมายรับรอง 2.กระท่อม ที่เพิ่งปลดล็อกเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีสารเมตาซานิน สามารถสกัดทำเป็นรูปแบบของเครื่องดื่มได้ ยังต้องวิจัยและศึกษาสารสกัดเพิ่มเติม
การนำสารสกัดไปผลิตเครื่องดื่มนั้น เวลานี้มีภาคเอกชนได้ร่วมลงนาม MOU กับบ.ไทยเฮมพ์ฯ แล้ว อาทิ คาราบาวแดง SEPPE(เซ็ปเป้) กลุ่มโรงพยาบาลยันฮี และโรงงาน OEM ทั้งกลุ่มเครื่องสำอางค์ และอาหารเสริม ทำให้ต้องเร่งสกัด CBD เพื่อส่งมอบให้กับพันธมิตรธุรกิจต่อไป
นอกจากนี้บริษัทได้ลงนามความร่วมมือวิจัยและศึกษาสารสกัดจากกัญชงกับมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งในภาคเหนือ ในด้านของเคมีพฤกษศาสตร์ ให้เป็นองค์ความรู้ ในการนำสารสกัดไปต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภค ยา เวชสำอาง ไปจนถึงปศุสัตว์ต่อไป