นายวีระ บูรพชัยศรี กรรมการบริษัท เมโทร เอนเนอร์ยี่ จำกัด เจ้าของโรงไฟฟ้าขยะอุดรธานีไพโรไลซิสออยล์ (UWTE Power Plant) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัดก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส เพื่อกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี กำลังการผลิต 9.6 เมกะวัตต์ติดตั้ง ซึ่งจะตอบโจทย์แผนพลังงานแห่งชาติที่หนุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 50%
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มูลค่า 710 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการเฟสแรกมาแล้วเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ กำจัดขยะสด โดยการร่วมมือกับจีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ฯ ก็เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะ โดยจะนำพลาสติกที่ได้จากการคัดแยกขยะไปเผาจะได้น้ำมันเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ขณะนี้มีการเริ่มก่อสร้างโครงการไปแล้ว กำหนดแล้วเสร็จและขายไฟเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อตอบโจทย์แผนพลังงานแห่งชาติที่หนุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 50% มีกำหนดระยะเวลาคืนทุน 5-7 ปี และมีแผนจะขยายลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้าง
อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวชุมชนเมืองในจังหวัดอุดรธานีที่ได้ร่วมกันผ่านประชาพิจารณ์ในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอยและให้นำขยะไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกิดขึ้นจริงแล้ว โดยได้รับความไว้วางใจให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าขยะพลังงานสะอาดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่ใช้ด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส สามารถแก้ปัญหาขยะในเมืองอุดรธานีได้ 300 ตันต่อวัน หรือประมาณ 109,500 ตันต่อปี
“การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิสเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในระดับเทศบาลจนถึงระดับจังหวัด ซึ่งนับว่าเป็นโรงไฟฟ้าขยะต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้เทคโนโนโลยีไพโรไลซิส มาเป็นหัวใจหลักของกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก เพื่อป้อนเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าขนาด 9.6 เมกะวัตต์ติดตั้ง และจะขายไฟฟ้าเข้าระบบจำนวน 8 เมกะวัตต์ ตามสัญญาในสิ้นปี 2565 แก่ กฟภ. อัตราค่าไฟอยู่ที่ 5 บาทต่อหน่วย อายุสัญญา 25 ปี”
นายวีระ กล่าวอีกว่า เทศบาลเมืองอุดรธานีได้ให้ความสนใจในเทคโนโลยีการกำจัดขยะมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าขยะพลาสติกนับวันจะยิ่งเพิ่มปัญหาในด้านการจัดการและส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้นในอนาคต ถึงเวลาแล้วที่ทางเทศบาลควรเดินหน้าโครงการจัดการขยะแบบครบวงจรเพื่อประชาชน จึงให้เมโทร เอนเนอร์ยี่ฯ ทำการศึกษาในเชิงลึกถึงแนวทางการใช้ขยะมูลฝอยของเทศบาลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงยิ่งขึ้น
และต้องได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนด้วยนั้นเอง บริษัทจึงเสนอแนวทางเลือกด้วยเทคโนโลยีสะอาดเพื่อการกำจัดและผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วยโดยเลือกใช้ จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ฯ ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านการจัดการของเสียแบบสะอาดครบวงจรหรือเรียกว่า โรงไฟฟ้าขยะเทคโนโลยีไพโรไลซิส เพื่อมาใช้กับโครงการนี้ ซึ่งการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าที่ขนาด 9.6 เมกะวัตต์ จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี
นายสุรเดช บัวทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด กล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิสที่ จ.อุดรธานี สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เปิดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนสิงหาคม ปี 2565 อย่างแน่นอน โดยข้อดีของเทคโนโลยีไพโรไลซิส คือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากขยะโดยการใช้เตาเผาที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และยังเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดไม่ก่อเกิดมลพิษ น่าจะมีการพัฒนาและต่อยอดไปได้อีกไกลในอนาคตเป็นอีกทางเลือกของการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับเทคโนโลยีไพโรไลซิส คือ กระบวนการทางเคมีความร้อนที่ เปลี่ยนรูปพลาสติก ที่เป็นเชื้อเพลิงที่มี ค่าทางความร้อนสูงขึ้นในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน โดยทางโครงการ มีการนำขยะพลาสติกที่ผ่านการคัดแยกสู่ระบบเตาให้ความร้อนแบบควบคุมอากาศ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีไพโรไรซิสที่ใช้อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 300 C – 350 C เพื่อเปลี่ยนสถานะจากของแข็ง เป็นของเหลวหรือน้ำมัน และก๊าซสังเคราะห์ หลังจากผ่านกระบวนการควบแน่น น้ำมันที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้จะถูกกลั่นแยกให้คุณสมบัติเหมาะสมกับ การใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค
นายผจญ ศรีบุญเรือง รองประธานกลุ่มพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีวิธีกำจัดขยะไม่ถูกต้อง จนทำให้ติด 1 ใน 6 ประเทศในโลกที่มีการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส จึงเป็นการตอบโจทย์ประเทศในการกำจัดขยะที่ถูกวิธีและได้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าด้วย
นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้ากับประเทศไทย กรณีบริษัทส่งออกสินค้าไปยุโรปมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สร้างภาวะโลกร้อน รวมถึงบริษัท SMEs ในประเทศไทยก็น่าห่วงยังไม่มีการปรับตัวในเรื่องนี้ ในส่วนพลังงานในแผนพลังงานแห่งชาติ (Energy Plan) มีการกำหนดให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 50% ซึ่งถือว่าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ก็เป็นดำเนินการตามกรอบแผนพลังงานแห่งชาติที่กำลังจะบังคับใช้
ดร.จุติณัฏฐ์ ลิมปนันท์วดี ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กฟภ. กล่าวว่า ตามแผน กฟภ. จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะ จำนวน 400 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดอุดรธานีก็อยู่ในแผนควิกวินที่มีการลงนามก่อสร้างเมื่อปี 2562 กำหนดแล้วเสร็จจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2564 แต่ติดปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด -19 ไม่สามารถลงพื้นที่ได้จึงได้มีการขยายโครงการออกไปเป็นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2565 ซึ่งขณะนี้ กฟภ. มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะแล้ว 35 โครงการ จำนวน 151 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 45 โครงการ จำนวน 217 เมกะวัตต์