กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มีการติดตามสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิดเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทย โดยในวันนี้ (23 ก.ย. 64) กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ ฉบับที่ 1 คาดการณ์ว่าพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางที่ทวีกำลังแรงจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย. 64) และจะอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง เคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ย. 64 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามและเตรียมการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมาก มีความเสี่ยงน้ำล้นทางระบายน้ำล้น และปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำมูลบน
อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำลำแชะ จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมาก รวมทั้งในระหว่างนี้ขอให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและแนวโน้มสถานการณ์ ซึ่งได้รับการตรวจสอบและยืนยันแล้วจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้ข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้องและชัดเจน
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย ระหว่างลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ตามข้อสั่งการของ พลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้กรมชลประทาน เร่งบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัย ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด กล่าวว่า เนื่องจากยังคงมีปริมาณฝนตกในพื้นที่จ.สุโขทัย อย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุด(23 ก.ย. 64)อ่างเก็บน้ำแม่มอก ยังคงมีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น มีพื้นที่ได้รับผลกระทบท้ายน้ำ
บริเวณ อ.ทุ่งเสลี่ยม และ อ.ศรีสำโรง โครงการชลประทานสุโขทัย ได้จัดจราจรน้ำในแม่น้ำยม โดยใช้ประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านหาดสะพานจันทร์ ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 127.20 ลบ.ม./วินาที ผันน้ำเข้าคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายผ่าน ปตร.คลองหกบาท ในอัตรา 49.59 ลบ.ม./วินาที และ ระบายลงสู่แม่น้ำยมสายหลัก 61.72 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมให้แม่น้ำยมสายหลักมีระดับน้ำต่ำลง ทำให้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่มอก ระบายลงแม่น้ำยมได้ พร้อมกับผันระบายน้ำเข้าคลองเชื่อมแม่น้ำยม ผ่านคลองต้นข้อ และคลองบ้านหลุม รวม 42 ลบ.ม./วินาที อีกด้านหนึ่งจะใช้ปตร.บ้านยางซ้าย ลดการระบายน้ำไปยังด้านท้าย เพื่อให้น้ำจากทุ่งทะเลหลวง และคลองแม่รำพัน สามารถระบายลงสู่แม่น้ำยมได้
สำหรับพื้นที่หน่วงน้ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ปัจจุบัน(23 ก.ย. 64)มีการรับน้ำเข้าทุ่งไปแล้ว 113,594 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำประมาณ 149.78 ล้าน ลบ.ม ร้อยละ 40 ของความจุ ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 250 ล้าน ลบ.ม. กรมประมง ได้ปล่อยพันธุ์ปลาลงทุ่งบางระกำแล้ว 3 ล้านตัว เพื่อให้ราษฎรในพื้นได้ทำประมงทดแทนรายได้ทางการเกษตรในช่วงฤดูน้ำหลาก
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ สำรวจพื้นที่เสี่ยงพร้อมนำเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เข้าติดตั้งพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที
ที่สำคัญให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำยม บูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา