แหล่งข่าวกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข้อสังเกตุโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ได้รับเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจโควิด รอบแรก 1,600 ล้านบาท ในปี 2564 ประกอบด้วย 4 กิจกรรม
กิจกรรมที่1 เพิ่มเติมชุดเครื่องชั่งบรรจุพร้อมจัดเรียงอัตโนมัติ
กิจกรรมที่2 ปรับปรุงเพิ่มเติมระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ประจำโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันุ์ โรงงานเพิ่มศักยภาพ
กิจกรรมที่3 ปรับปรุงเพิ่มเติมเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ประจำโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์โรงงาน OECF
กิจการมที่4 ก่อสร้างอาคารพร้อมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ประจำโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โรงงานใหม่
“ความจำเป็นมากขนาดไหนในการใช้เงินกู้วิกฤติโควิด ขณะที่ประเทศชาติเดือดร้อน แต่อนุมัติงบประมาณถึง 1,600 ล้าน มาปรับปรุงโรงงานเมล็ดพันธุ์ที่มีสภาพการใช้งานได้ดี เปิดโรงงานผลิตเพียงปีละไม่ถึง 6 เดือน คนที่ได้รับประโยชน์ คือผูกขาดเจ้าเดียว"
ในขณะที่กรมการข้าวไม่ได้รับงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการจัดหาเมล็ดให้เกษตรกรได้ที่ถูกยกเลิกโครงการไปในปี 2563 เป็นการบริหารงานที่ผิดพลาดโดยงบประมาณที่จะต้องใช้ประมาณ 400 ล้านบาท
แหล่งข่าวกรมการข้าว กล่าวอีก ฟังความจริงแล้วจะอึ้ง “กรมการข้าว” ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ปีละประมาณ 85,000 ตัน โดยโรงงาน 23 แห่ง และกำลังสร้างโรงงานใหม่อีก 5 แห่ง ปัญหาแท้จริงไม่ใช่อยู่ที่โรงงานไม่มีศักยภาพ
แต่ปัญหาคือไม่สามารถบริหารจัดการผลิตเมล็ดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาอยู่ที่วัตถุดิบเมล็ดพันธุ์ดีจากแปลงพันธุ์ที่ดีไม่เพียงพอต่อการป้อนโรงงาน ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ไม่สามารถขยายด้วยข้อจำกัดของหน่วยงานกรมการข้าวเอง และเงินทุนหมุนเวียนที่มีจำกัด
"แต่มีข้อสังเกตว่าเหตุผลที่ขออนุมัติซ่อมโรงงานโดยอ้างว่าผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เพราะโรงงานเก่า แต่สามารถตรวจสอบได้ว่าทุกๆ ปี กรมการข้าวมีการตัดเสื่อมเมล็ดพันธุ์สต๊อกค้างทุกๆ ปีละนับหมื่นตัน มาเทขายขาดทุนให้กับโรงสีในข้าวเปลือกปกติ ย้อนแย้งหรือไม่"
นอกจากนี้ยังมีกับการหาผลประโยชน์และหากินกับความลำบากของพี่น้องชาวนา เมื่อปลายปีงบประมาณ 2564 ผู้บริหารระดับสูงได้ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงงบประมาณ แทนที่จะช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อน กลับเปลี่ยนโยกงบประมาณกระจายไปตามศูนย์วิจัย ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กว่า 30 ล้านบาท ให้งบจ้างประชาสัมพันธ์เป็นบริษัทผูกขาด แล้วมาบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ตามภูมิภาคให้เซ็นรับ
“เรื่องเหล่านี้คนทั้งกรมทราบ น้ำท่วมปาก แต่ความเป็นข้าราชการคนของแผ่นดิน เห็นวงจรอุบาทว์อยากให้ตัดตอน อยากให้องค์กรอิสระต่างควรจะรีบเข้ามาตรวจสอบด่วน ก่อนประเทศชาติจะเสียหายมากกว่านี้”
นายระวี รุ่งเรือง รองประธานคณะกรรมการกลาง ศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ กล่าวว่า นี้ ในลักษณะกล่าวหาการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ปี 2563 ของกรมการข้าว ล่าสุดที่อนุมัติซื้อไป 60 ตัว ก็ไปลงที่จังหวัดสุพรรณบุรีทั้งหมด ก็ต้องยอมรับว่าเป็นฐานเสียงของพรรคการเมือง มีนโยบายที่จะขยายศูนย์ข้าวชุมชนให้ครบ 7,000 แห่ง ปัจจุบันมีประมาณ กว่า 2,400 แห่ง โดยเฉพาะจังหวัดสุพรรบุรี ตามเป้า จะมีประมาณ 400 แห่ง
"ผมมารู้ภายหลัง ที่สำคัญภายใน กรมการข้าว มีปัญหาขัดแย้งกันภายใน สิ่งที่ผมค้านเพราะอยากได้บริษัที่ประมูลแล้วสินค้ามีคุณภาพ เพราะผมมาจากการเลือกตั้ง มาจากตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ จะต้องปกป้องเกษตรกร จะต้องได้ของดี ไม่ใช่ไปตั้งแค่อนุสาวรีย์เท่านั้น สาเหตุที่เกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทที่ประมูลได้ เมื่อตรวจรับของคุณภาพไม่ได้อย่างที่กำหนดก็มีปัญหา จะมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตรวจรับใหม่ผมก็ไม่ยอม ส่วนบริษัทที่แพ้ประมูลก็มีการอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวด้วย"
นายระวี กล่าวว่า ในอีกด้านหนึ่ง คุณจารึก กมลอินทร์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ได้นำเรื่องนี้ไปยื่นเรื่องกับ ป.ป.ช. เรียบร้อย ต้องรอดูว่า ป.ป.ช.จะมีการไต่สวนเรื่องอย่างไร
ปัญหาของ "กรมการข้าว" จะจบอย่างไร ต้องติดตาม ลุ้น ครม.วันที่ 28 ก.ย.นี้ บีบ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องส่งรายชื่อเข้า ครม. ตามดูว่าแต่ละกรม มีความเคลื่อนไหวอย่างไร จับตา 2 วันสุดท้ายคืนหมาหอน