อาหารสัตว์-พ่อค้าแข่งซื้อของนอกแพง ดันราคาข้าวโพดพุ่งเป็นประวัติการณ์

24 ก.ย. 2564 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2564 | 19:00 น.

“พาณิชย์” ใช้ไม้แข็งดันราคาข้าวโพดพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 11.50 บาทต่อ กก. อานิสงส์ดันราคาข้าวเปลือก-ปลายข้าว พุ่งยกแผงใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน โรงงานอาหารสัตว์-พ่อค้า เปิดศึกแย่งซื้อ หลังราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ค่าระวางเรือทุบซ้ำพุ่งปรี๊ด

วันที่ 6 ตุลาคม 2563 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ปี 2564 - 2566 ทุกกรอบการค้าและจากประเทศนอกความตกลง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้าข้าวสาลี 100 ตัน รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 300 ตัน) นั้น เริ่มเห็นผลเกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้น

 

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  มาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพดในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้กำกับดูแลอย่างเคร่งครัดซึ่งล่าสุดผู้บริหารของกรมการค้าภายในได้หารือนอกรอบกับกลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในเรื่องสัดส่วน 1:3 แล้ว

 

โดยกำชับว่าให้ซื้อข้าวโพดในประเทศก่อน จะไม่อนุโลมเหมือนก่อนหน้านี้ (ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะขอนำเข้าก่อนแล้วค่อยทยอยซื้อใช้เติมทีหลังได้ ทำให้เกษตรกรถูกกดราคา) ส่งผลให้เวลานี้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ทุกโรงได้ไล่ซื้อข้าวโพดเพื่อคงสิทธิ์นำเข้าข้าวสาลี

 

จากการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดดังกล่าว ส่งผลให้เวลานี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นมาก เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดต่างมีความสุขที่มีกำไรช่วยให้ชำระหนี้สิน และดูแลลูกหลานที่กลับมาอยู่ด้วยในช่วงโควิดได้

 

ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 

ส่วนที่รอเก็บเกี่ยวต่างหวังว่าราคาจะไม่แผ่วลงก่อนที่ข้าวโพดรุ่นสองจะออกมากในปลายเดือนตุลาคมถึงธันวาคมนี้ อย่างไรก็ดีมองว่าโรงงานอาหารสัตว์ยังมีกำไรจากวัตถุดิบ โดยเฉพาะข้าวบาร์เลย์ ที่นำเข้ามาเมื่อช่วงต้นปีมีราคาที่ต่ำมาก

 

พรเทพ ปู่ประเสริฐ

นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่  กล่าวว่า ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 14.5% ณ ปัจจุบันราคาสูงสุดอยู่ที่ 11.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ถือเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มาจากปัจจัยราคาวัตถุดิบต่างประเทศมีราคาแพง บวกกับค่าขนส่ง ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น

 

เมื่อเทียบกันแล้วการใช้ข้าวโพดในประเทศมีต้นทุนที่ถูกกว่า ขณะนี้กลุ่มชาวนาและโรงสีเริ่มได้รับอานิสงส์เมื่อราคาข้าวโพดปรับตัวทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์หลายโรงหันกลับมามองเรื่องปลายข้าว และข้าวเปลือกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน ถือเป็นการลดซัพพลายข้าวที่ตกค้างในประเทศทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารได้อีกทางหนึ่ง

 

“วันนี้ต้องขอบคุณโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ ที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยวสัตว์ได้รับประโยชน์ สามารถเก็บเกี่ยวได้ราคาที่สูงขึ้น ลืมตาอ้าปากได้และมีรายได้มากขึ้น และขอบคุณที่ได้หันกลับมามองวัตถุดิบในประเทศทดแทนนำเข้า เช่นปลายข้าว และข้าวเปลือก ที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์มากขึ้น ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นมาเช่นเดียวกัน”

 

บรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ไม่เฉพาะไทยประเทศเดียว ที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยับตัวสูงขึ้นแต่สูงขึ้นทั่วโลก ขณะที่ผลผลิตข้าวโพดในไทยมีน้อย ทำให้ปลายข้าวได้รับอานิสงส์ด้วยจากราคาปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งปี 2564 เป็นปีที่เคยคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะต้องเห็นภาพอย่างนี้เกิดขึ้นในประเทศ

 

คืออาหารสัตว์จะแพงกว่าอาหารคน เพราะอาหารคนวนเวียนอยู่ที่ข้าวเปลือก 31 ล้านตัน แล้วสามารถส่งออกได้เพียง 5 ล้านตันข้าวสาร และยังเหลือบริโภคในประเทศอีกประมาณ 5 ล้านตัน เป็นโจทย์ที่บังคับอยู่แล้ว เมื่อราคาข้าวไม่ปรับขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไม่ยอมเก็บสต๊อกข้าว เพราะไม่มีแรงจูงใจซื้อ คาดจากนี้ไปไม่เกิน 2-3 เดือน ข้าวนาปีจะทยอยออกมา ราคาจะยิ่งปรับตัวลงอีก

 

“ปีนี้เป็นปีที่โชคดีอาหารสัตว์ไม่มีของต้องหันมาซื้อปลายข้าวใช้แทนข้าวสาลีนำเข้า จากได้รับผลกระทบเรื่องค่าระวางแพง ทำให้ต้องหันมาใช้ปลายข้าวเป็นหลัก และบางส่วนก็หันมาซื้อข้าวเปลือก (ข้าวกล้อง) เพื่อทดลองใช้ในการผลิต ช่วยทำให้ราคาข้าวชะลอการทรุดลงไปได้ในระดับหนึ่ง วันนี้ต้นข้าว 5% ราคาถูกว่าข้าวโพดอีก  ส่วนปลายข้าวโรงงานอาหารสัตว์ก็ซื้อ 11 บาทกว่าต่อกิโลฯแล้ว แนะนำว่ารัฐบาลจะต้องใช้เรื่องการค้าในประเทศเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์”

 

นายบรรจง กล่าวอีกว่า ตอนนี้ถือว่าสถานการณ์เอื้อกันเองในประเทศมากกว่า แต่ถ้าจะให้ดี รัฐบาลจะทำอย่างไรจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ข้าวให้น้อยที่สุด อยากฝากการบ้านให้ไปคิดต่อ โดยจะถอดโมเดลสถานการณ์ในช่วงนี้เทียบเคียงกันก็ได้ จะได้ไม่ต้องใช้เงินเต็มเพดานในการชดเชยประกันราคาข้าว 5 ชนิด

 

(เงินชดเชยเต็มเพดานส่วนต่างประกันรายได้ข้าวมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ยังมีเงินค่าสต๊อกให้สหกรณ์ โรงสี ส่งออกเก็บข้าว อีก รวมเป็น 1.8 แสนล้านบาท) คาดรัฐบาลจะเคาะราคาประกันชดเชยงวดแรกเดือนตุลาคมนี้

 

หน้า  9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3716 วันที่ 23-25 กันยายน 2564