ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนประเทศไทย ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมฯ ผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ในการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับโลก (The Global Conference on Aquaculture 2020 : GCA+20) ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ในงานดังกล่าว ประเทศไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการกับนานาประเทศ พร้อมแสดงบทบาทและศักยภาพของประเทศไทยในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระดับสากล รวมทั้งการประกาศเป้าหมายนำภาคประมงสู่การพัฒนายั่งยืน
ด้านนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมง ในฐานะหน่วยงานผู้แทนประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับโลก (The Global Conference on Aquaculture GCA+20 ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2564 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในธีม “Aquaculture for Food and Sustainable Development” จัดโดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Ministry of Agriculture and Rural Affairs of the People’s Republic of China : MARA) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) และองค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (The Network of Aquaculture Centres in Asia-Pacific : NACA)
การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมจากทั่วโลกที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาทั้งด้านนโยบาย นวัตกรรม เทคโนโลยี โอกาสการลงทุน และความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่ออาหารและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
บทบาทของประเทศไทย ได้ร่วมมือกับนานาประเทศสร้างความยั่งยืนในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ ร่วมจัดทำคู่มือจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของอาเซียน รวมถึงแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการปฏิบัติที่ดีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปี 2564-2568 ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน พร้อมกันนี้ ประเทศไทยยังได้รับคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการบริหารภายใต้คณะกรรมาธิการด้านทรัพยากรพันธุกรรมสาขาอาหารและเกษตร รวมถึงได้เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาคด้านการทบทวนและการประเมินกฎหมายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่จัดขึ้นโดย FAO
นอกจากนี้ ในปี 2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะจัดการประชุมคณะทำงานด้านมหาสมุทรและการประมง และการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร เป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญในการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
การจัดประชุม GCA+20 ครั้งนี้ กรมประมงได้จัดส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมในรูปแบบออนไลน์ภายใต้หัวข้อการประชุมที่สำคัญ 9 หัวข้อ (Thematic Reviews) ได้แก่ 1. ระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2. เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 3. การปรับเปลี่ยนระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4. อาหารและการให้อาหารสัตว์น้ำ 5. การพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ 6. ความปลอดภัยทางชีวภาพและการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ/พืช/สาหร่าย 7. การวางแผนเชิงนโยบายด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 8. ขอบเขตของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ 9. ห่วงโซ่คุณค่าและการเข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย
“การประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการประชุมในหัวข้อการเปลี่ยนผ่านด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปสู่ความสำเร็จตาม SDGs ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากกรมประมงได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง”
อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมว่า มีการกำหนดนโยบายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สอดคล้องทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และแผนการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2560-2564 โดยมียุทธศาสตร์พัฒนาความสามารถในการผลิต-เพาะเลี้ยงให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ปลอดภัย ได้มาตรฐาน พร้อมผลักดันการเพาะเลี้ยงและอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าและศักยภาพการแข่งขันที่สอดรับกับความต้องการทางการตลาดในบริบท New Normal รวมไปถึงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าประมง ตลอดจนยกระดับเครือข่ายและควบคุมต้นทุนตลอด Supply Chain เพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 อีกด้วย
การประชุมครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมทั้งได้แสดงบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมทางด้านวิชาการ สามารถแสดงศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยในระดับสากล อันจะนำไปสู่การยกระดับความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศต่อไป