นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า จากเวทีประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยระบบอาหารโลก (Food Systems Summit 2021) ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงโดยสรุปใจความสำคัญว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของระบบอาหารต่อความอยู่รอดของทุกชีวิตโดยสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาได้เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความเปราะบางของระบบอาหารไทย จึงขอผลักดันให้ประชาคมโลกร่วมมือกันพลิกโฉมระบบอาหารให้ยั่งยืนและสมดุลในทุกมิติ สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัยดีต่อสุขภาพ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
นอกจากนี้ การพลิกโฉมระบบอาหารทั้ง 5 ด้าน ตามข้อเสนอของสหประชาชาติ สอดคล้องกับแนวทางของไทย นโยบายเกษตรและอาหาร 3S ประกอบด้วย 1.ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) 2. ความมั่นคง (Security) และ 3. ความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตร (Sustainability) พร้อมย้ำไทยอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันในความพร้อมที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคีเครือข่ายภายในและระหว่างประเทศ
ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาหารโลกนำไปสู่การพลิกโฉมระบบอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ FoodSystems4SDGs ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเสนอแนวคิดการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารให้มีความยั่งยืน เป็นธรรม และดีต่อสุขภาพตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภคและแสดงความมุ่งมั่นในการเป็นครัวของโลก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมร่วมกันนานาประเทศขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี ค.ศ. 2030
จากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว มีความสอดคล้องกับการดำเนินงานและทิศทางการส่งเสริมสนับสนุน “Food Safety หรือความปลอดภัยทางอาหาร นับเป็นหนึ่งในปณิธานแรกของ FOOD 3S ที่ซีพีแรมให้ความสำคัญตลอดมาและมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ครบรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เมื่อพ.ศ. 2560” ที่มีความหมายไม่ใช่เพียงแค่การผลิตอาหารปรุงสุกในบรรจุภัณฑ์ปิดผนึกให้มีความปลอดภัย ปลอดเชื้อมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังสะท้อนไปถึงแนวทางการทำงานตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อมาดูแลปณิธานดังกล่าวอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
เพื่อช่วยให้เกิดความชัดเจนในการกำกับดูแลปณิธานของการทำงานที่มีความปลอดภัยของอาหารเป็นที่ตั้ง ตลอดทั้งกระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ที่จะต้องสอดคล้องกับปณิธานดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ที่เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารทุกขั้นตอนได้มาตรฐาน และการใช้เครื่องจักรเป็นการทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติในบางโรงงาน ที่ซีพีแรมได้มีการพัฒนาเครื่องจักรในการผลิตอาหารแต่ละชนิดขึ้นมาโดยเฉพาะ และโรงงานผลิตอาหารบางแห่งได้นำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ผลิตอาหารกันอย่างจริงจัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของการปนเปื้อนที่น้อยลง เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตแบบปิด
สำหรับซีพีแรมเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน เป็นผู้นำด้าน FOOD PROVIDER มาตรฐานโลก ด้วยปณิธานที่จะส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากรสชาติอร่อยแล้ว ด้านความปลอดภัยและให้คุณค่าทางโภชนาการ มุ่งมั่นสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการสร้างคุณค่าสูงสุดให้แก่ผู้บริโภค ตามมาด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และสังคม ด้วยการพัฒนาการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน จนกระทั่งส่งสินค้าถึงมือลูกค้า ให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุดเสมอมา ซึ่งมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน และกลุ่มผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ โดยมีสินค้าและบริการในกลุ่มบริษัท ซีพีแรม จำกัด อาทิ แบรนด์เจด ดราก้อน, แบรนด์เลอแปง, แบรนด์เดลี่ไทย,แบรนด์เดลิกาเซีย, แบรนด์ซีพีแรม แคทเทอริ่งและแบรนด์ฟู้ดดี้ดี เป็นต้น
ด้านกระบวนการคัดสรรวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตอาหาร ซีพีแรมได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรในพื้นที่ตั้งโรงงานแต่ละแห่ง อาทิ โครงการเกษตรกรคู่ชีวิต ในการพัฒนาพันธุ์ใบกะเพรา หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของผัดกะเพราที่เป็นเมนูอาหารที่ขายดีของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่นำแนวทางเกษตรอินทรีย์มาใช้นับเป็นกระบวนการ Food Safety ตั้งแต่การคัดวัตถุดิบ
นอกจากนี้ยังมี “โครงการปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย” ที่สนับสนุนเกษตรกรได้มีอาชีพที่มั่นคง รวมไปถึงโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการเพาะเลี้ยงสัตว์เพื่อให้เกิดการผลิตวัตถุดิบที่เพียงพอนับได้ว่าเป็นแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังเป็นการตัดตอนความคิดของการเร่งการผลิตด้วยเคมีจนอาจจะทำให้ปนเปื้อนมาสู่อาหารที่ผลิตได้ ซึ่งเป็นอีกเรื่องของ Food Safety ที่นำมาสอดแทรกเข้ามาได้อย่างลงตัว พร้อมกันนี้การส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบให้ได้รับความรู้ในการผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) ซึ่งจะเป็นมาตรฐานการผลิตที่จะต้องปลอดภัยทั้งตัวผู้ผลิตเองและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ที่สำคัญจะต้องปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยซีพีแรม ยังมีศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารและตั้งเป้าที่จะยกระดับองค์กรสู่ CPRAM 4.0 รวมถึงการเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน และยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเชียให้ได้