นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยความคืบหน้าการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)ว่า ปัจจุบัน ทอท. ได้เสนอผลการศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ. ของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ พิจารณาแล้ว เบื้องต้นรายงานผลการศึกษายืนยันว่าการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ(North Expansion) หรือเทอร์มินัล2 เป็นการตอบโจทย์ที่จะช่วยลดปัญหาความแออัดภายในอาคารผู้โดยสารหลัก เพราะมีพื้นที่เพิ่มทั้งเขตการบิน(Airside) และเขตนอกการบิน (Landside)
ขณะเดียวกันผลการศึกษาฯ ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ)นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมว่าจ้างไอเคโอ โดยกรมบัญชีกลางได้ตรวจสอบร่างสัญญาการว่าจ้างแล้ว และส่งกลับมาให้ ทอท. เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ และการศึกษาจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี เมื่อแล้วเสร็จจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสาร ทสภ. ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัุฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ทอท. จะดำเนินการทั้ง 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ, ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) และส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion) โดยระยะแรกจะเริ่มในส่วนของด้านเหนือ และด้านตะวันออกก่อน ส่วนด้านตะวันตกจะขอพิจารณาสถานการณ์ในขณะนั้นอีกครั้ง เพราะคาดว่าในระหว่างที่ก่อสร้างด้านตะวันออก การฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศน่าจะเริ่มดีขึ้น ดังนั้นจึงต้องดูความเหมาะสมด้วย หากก่อสร้างพร้อมกันจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารได้
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า เบื้องต้น ทอท.จะเสนอแผนการก่อสร้างทั้งหมดให้ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ทอท. พิจารณาในเดือน ต.ค.64 โดยจะเตรียมรื้อถอนโครงสร้างบริเวณซิตี้การ์เด้น ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกติดกับอาคารผู้โดยสารหลัก เพื่อนำพื้นที่ไปใช้ในการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก สำหรับส่วนต่อขยายทิศเหนือ ได้ปรับแผนจากเดิมจะให้เป็นอาคารที่รองรับทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศ และในประเทศ ปรับเป็นอาคารภายในประเทศเพียงอย่างเดียว เพื่อจะได้ลดต้นทุนในส่วนของการนำรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) เข้าไปเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยหลัก กับส่วนต่อขยายทิศเหนือ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
“การที่ให้ส่วนต่อขยายทิศเหนือ เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ จะช่วยลดความสับสน และเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้บริการ โดยผู้ที่มาส่งผู้โดยสารอาคารต่อขยายทิศเหนือ สามารถขับรถวกกลับไปได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องไปผ่านอาคารผู้โดยสารหลัก ลดปัญหาการจราจรบริเวณหน้าอาคารผู้โดยสารหลักได้ด้วย นอกจากนี้ยังได้หารือกับทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์แล้ว ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะเพิ่มสถานีอาคารภายในประเทศอีก 1 สถานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่อาคารส่วนต่อขยายทิศเหนือ”