วันที่ 26 มิถุนายน 2564 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊ค ข้อความว่า
ทอท. ขีดเส้นตายสั่งรื้อ City Garden ภายใน 31 ก.ค. นี้ แต่จะรื้อได้หรือไม่? ถ้าได้ จะเร่งขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก หรือจะเร่งขยายด้านทิศเหนือ (เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ) กันแน่? ต้องจับตา อย่ากะพริบ!
แว่วมาว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้มีหนังสือลงวันที่ 21 มกราคม 2564 ถึงบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด หรือเคพีเอส ขอให้เคพีเอสขนย้ายทรัพย์สินออกจาก City Garden และส่งมอบคืนพื้นที่ให้ ทอท. ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564
1. City Garden คืออะไร?
City Garden คืออาคารที่อยู่บนพื้นที่ว่างด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 หรือเทอร์มินัล 1 ทอท. ได้ให้เคพีเอส สร้างและบริหารอาคารนี้เป็นเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 (วันที่เปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ) ถึงวันที่ 27 กันยายน 2559 โดยเคพีเอสได้ทำเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม
ตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ทอท. จะต้องขยายเทอร์มินัล 1 ออกไปทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งการขยายเทอร์มินัล 1 ออกไปทางทิศตะวันออก จะต้องรื้อ City Garden ต่อจากนั้น จะต้องสร้างเทอร์มินัลด้านทิศใต้ ใกล้ถนนบางนา-ตราด
2. เดิม ทอท. มีแผนจะขยายสนามบินสุวรรณภูมิอย่างไร?
เดิม ทอท. ต้องการจะขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก โดยได้จ้างให้บริษัทที่ปรึกษาออกแบบเสร็จแล้ว จ่ายค่าแบบไปแล้ว และได้รับความเห็นชอบผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว ที่สำคัญ ครม. ได้อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 แต่จนถึงเวลานี้ ผ่านไป 11 ปี แล้ว ทอท. ก็ยังไม่ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2561 ทอท. เปลี่ยนใจที่จะขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันตกแทนด้านทิศตะวันออก โดยอ้างว่าการขยายด้านทิศตะวันออกมีความยุ่งยากมากกว่า แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ขยายด้านทิศตะวันตกเช่นเดียวกัน
3. เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ในเดือนสิงหาคม 2557 ทอท. มีแนวคิดที่จะสร้างเทอร์มินัลหลังใหม่ซึ่งไม่มีอยู่ในแผนแม่บท ด้านทิศเหนือของเทอร์มินัล 1 ซึ่งเทอร์มินัลนี้เดิม ทอท.เรียกว่า เทอร์มินัล 2 แต่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นการตัดรูปเทอร์มินัลมาแปะไว้เท่านั้นโดยไม่ได้ศึกษาความเหมาะสมอย่างละเอียดรอบคอบ ต่อมา ทอท.เรียกอาคารนี้ว่า “ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ”
ด้วยเหตุนี้ ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจึงถูกคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพ 12 องค์กร และจากนักวิชาการที่เป็นห่วงว่าส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นานาตามมา ทำให้เกิดผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสนามบิน อีกทั้ง ยังมีเสียงทักท้วงจากคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ถึง 2 ครั้ง ที่สำคัญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ โดยสภาพัฒน์และ ป.ป.ช. รวมทั้งองค์กรวิชาชีพและนักวิชาการได้เสนอแนะให้ ทอท.เร่งขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตามด้วยการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ใกล้ถนนบางนา-ตราด
แต่อย่างไรก็ตาม ทอท. ก็ยังคงมีความพยายามที่สร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือให้ได้ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ทอท. จะสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกไปพร้อมๆ กับส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ
4. ทำไม ทอท. จึงต้องการสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือให้ได้?
ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนืออยู่ใกล้กับที่ดินแปลงที่ 37 ซึ่ง ทอท. หมายมั่นปั้นมือที่จะพัฒนาเป็นเมืองการบิน (Airport City) ประกอบด้วยหลากหลายกิจกรรม เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์การประชุม อาคารสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าส่งออก และแหล่งบันเทิงครบวงจร เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่ ทอท. ต้องการสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือเป็นเพราะว่า ทอท.ต้องการเสริมสร้างศักยภาพของที่ดินแปลงที่ 37 ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ใช่หรือไม่? และ ทอท. จะทำเพื่อใคร?
การที่ ทอท. มุ่งพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิด้านทิศเหนือแทนที่จะขยายไปทางด้านทิศใต้ตามแผนแม่บทที่ออกแบบไว้อย่างดี มีความสมดุลในการพัฒนาด้านเหนือ-ด้านใต้ และด้านตะวันออก-ด้านตะวันตก ในที่สุด ทอท. ก็อาจไม่สร้างเทอร์มินัลหลังใหม่ด้านทิศใต้ใกล้ถนนบางนา-ตราดตามแผนแม่บท ทำให้การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะทางด้านทิศเหนือไม่ไกลจากที่ดินแปลงที่ 37
5. ทอท. จะรื้อ City Garden ได้จริงหรือ?
ถึงวันนี้ เหลือเวลาก่อนถึงวันขีดเส้นตายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 อีกเพียงไม่กี่วัน ดูจากภายนอก City Garden ก็ยังมีสภาพเหมือนเดิม ไม่รู้ว่า ทอท. จะรื้อเมื่อไหร่ หาก ทอท. ต้องการที่จะเร่งขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกจริงก็ควรเร่งรื้อ City Garden ทันที่ที่เคพีเอสส่งมอบพื้นที่คืนให้ ทอท.
เดิมเคพีเอสได้รับสิทธิ์ในการบริหาร City Garden จนถึงวันที่ 27 กันยายน 2559 หลังจากนั้นจะมีการต่อสัญญาหรือไม่ ผมไม่มีข้อมูล แต่รู้ว่ามีการทำสัญญาให้เคพีเอสบริหารอาคารนี้อีกครั้งในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2575 เป็นการทำสัญญาล่วงหน้านานกว่า 1 ปี
การทำสัญญาในเวลาดังกล่าวเป็นการทำสัญญาในระหว่างการคัดค้านไม่ให้ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ แต่ให้ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกตามแผนแม่บท โดยจะต้องรื้อ City Garden ที่กีดขวางการขยายด้านทิศตะวันออก การทำสัญญาเช่นนี้จึงชี้ให้เห็นได้ว่า ทอท. ไม่ใยดีกับเสียงคัดค้านเหล่านั้น อีกทั้ง ยังได้ปรับแผนการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกออกไปอย่างไม่มีกำหนด
แต่ต่อมา ทอท. ไม่อาจทนต่อเสียงทักท้วงจากหลายฝ่ายได้ จึงอ้อมแอ้มว่าจะสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกไปพร้อมๆ กับส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ
6. สรุป
ในช่วงที่มีผู้โดยสารน้อยเช่นเวลานี้ ทอท. ควรฉกฉวยโอกาสทองเร่งขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่ง ทอท. เคยอ้างว่ามีอุปสรรคในการขยายช่วงที่มีผู้โดยสารมาก จะทำให้ ทอท. ใช้งบค่าก่อสร้างน้อยกว่าการขยายด้านทิศเหนือมากถึงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ถึงแม้จะมีเสียงทักท้วงและข้อเสนอแนะหลายครั้งออกมาจากหลายฝ่ายไม่ให้ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือแล้วก็ตาม แต่คงยากที่จะหยุดยั้ง ทอท. ได้ หากนายกรัฐมนตรีไม่ทุบโต๊ะ!
ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากสนามบินสุวรรณภูมิอย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง