ส่งออกไทยช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่า 4.72 ล้านล้านบาท (รูปดอลลาร์ 154,985 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ +16.20%) ขยายตัว 13.93%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)คาดการณ์ (ณ เดือนก.ย.) ส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 12-14% อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบรายชื่อผู้ส่งออก 20 อันดับแรก (ผู้ส่งออกกว่า 3.6 หมื่นราย) จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบสัดส่วนกว่า 90% (18 บริษัท) เป็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ขณะที่มีบริษัทสัญชาติไทยเพียง 2 บริษัท หรือคิดเป็น 10%
บิ๊กข้ามชาติกุมชะตาไทย
รายชื่อผู้ส่งออก 20 อันดับแรกมีดังนี้ 1.บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด (บจก.) 2.บจก.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย 3.บจก.ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) 4.บจก.มิตซูบิชิมอเตอร์ส (ประเทศไทย) 5.บจก.โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง 6.บจก.นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) 7.บจก.ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) 8.บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (บมจ.)(บริษัทคนไทย) 9.บจก.อีซูซุมอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่น (ประเทศไทย) 10.บจก.เอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์
11.บจก.ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ 12.บจก.ฟาบริเนท 13.บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) 14.บจก.ซิเลซติกา(ประเทศไทย) 15.บจก.แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักต์ (ประเทศไทย) 16.บจก.เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย 17.บจก.ไมโครชิพ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) 18.บจก.มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูเมอร์ โปรดักต์ (ประเทศไทย) 19.บจก.ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) และ 20.บจก.พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง (บริษัทคนไทย)
7 ปัจจัยลบตัวเร่งย้ายฐาน
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปีที่ผ่านมา(2563) ไทยส่งออก 7.18 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (จีดีพีไทยปี 2563 มูลค่ารวม 16 ล้านล้านบาท) ซึ่งบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนไทยเพื่อใช้เป็นฐานผลิตถือมีส่วนสำคัญมากในสัดส่วนการส่งออกและจีดีพีของไทย ทั้งนี้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ อาจมีผลให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าต่างชาติอาจพิจารณาย้ายหรือขยายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เช่น ลาว เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย
โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจที่สำคัญได้แก่ 1.ค่าจ้างไทยสูงสุดในอาเซียน ไทย 308-330 บาทต่อวัน, ฟิลิปปินส์ 163-325 บาทต่อวัน, อินโดนีเซีย 288 บาทต่อวัน, มาเลเซีย 280 บาทต่อวัน, เวียดนาม 133-189 บาทต่อวัน, 6 กัมพูชา 193 บาทต่อวัน, สปป.ลาว 135 บาทต่อวันและเมียนมา 98 บาทต่อวัน
2.ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อความต่อเนื่องนโยบายเศรษฐกิจ 3.ความพร้อมของท่าเรือเพื่อส่งออก ปัจจุบันในอาเซียนความสามารถของท่าเรือสูงสุดคือ มาเลเซีย ตามด้วยไทย และเวียดนามใกล้เคียงกัน และตามด้วยท่าเรืออินโดนีเซีย 4.การอยู่ใกล้ตลาดจีน ทำให้เวียดนามได้เปรียบส่งออกไปจีนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยี เครื่องมือ และอาหารแปรรูป 5. รถไฟจีน-ลาวมีโอกาสสูงที่รับการลงทุนโดยตรง(FDI)จากจีน และต่างประเทศ โดยกลุ่มอาหารมีโอกาสไปลงทุนในลาวมากขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ขนส่งสินค้าไปจีนได้อย่างรวดเร็ว
6.ต้นทุนพลังงาน ไทยสูงกว่ามาเลเซีย 50% โดยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีมีโอกาสไปลงทุนมาเลเซีย และ 7.สิทธิประโยชน์ของแต่ละอุตสาหกรรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมถุงมือยาง หรือ อุตสาหกรรมตามกรอบการพัฒนา BCG Economy
“หากเขามีการย้ายฐาน คงไม่ถึงกับปิดโรงงานในไทย เพียงแต่ ไม่ขยายกำลังการผลิตเพิ่ม แต่จะย้ายกำลังการผลิตไปในประเทศที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำ ซึ่งไม่คิดว่าจะย้ายในระยะ 1-2 ปี เพราะประเด็นโควิด แต่หลังจาก 1-2 ปี บริษัทเหล่านี้คงมีการประเมินอีกครั้งหนึ่ง หากย้ายไปจะกระทบต่อการส่งออกของไทยแน่นอน”
ดังนั้นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ถือเป็นความหวังที่จะช่วยให้ภาคการส่งออกของคนไทยยังขยายตัวและแข่งขันได้ในอนาคตมองว่าอยู่ในกลุ่มเกษตรแปรรูปและสมุนไพรภายใต้แนวทางการพัฒนาแบบ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เพราะไทยมีความพร้อมวัตถุดิบการเกษตรมาก, สารสกัดจากสินค้าเกษตรและสมุนไพร รวมถึงของเหลือจากภาคเกษตรนำมาสร้างเป็นมูลค่าเพิ่ม ภายใต้เทรนด์ของโลกคือ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน
บิ๊กหอฯแนะดูดทุนแข่งเวียดนาม
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า ปัจจุบันเวียดนามดึงทุน FDI ได้เหนือกว่าไทย จากมีความได้เปรียบคือ 1.การเมืองมั่นคง รัฐบาลมีเสถียรภาพ2.แรงงานมีจำนวนมาก และค่าแรงต่ำกว่าไทย 3.ตลาดอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ จากมีชนชั้นกลางมาก และประชาชนส่วนใหญ่มีงานทำ 4.สาธารณูปโภคเริ่มดีขึ้น 5.วัตถุดิบมีราคาต้นทุนที่ถูก และมีปริมาณมาก โดยเฉพาะวัตถุดิบทางการเกษตร และ 6.เวียดนามได้มีข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศมากกว่าไทย เช่น CPTPP, EU- FTA, UK-FTA เป็นต้น ซึ่งเป็น ประโยชน์อย่างมากต่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่สัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะ FDI ที่เข้าไปลงทุนเพื่อการส่งออก
“เพื่อพยายามรักษานักลงทุนต่างชาติที่มีอยู่เดิม ไม่ให้ไหลออกไปยังเวียดนาม ไทยต้องพยายามหาจุดแข็งที่เหนือกว่าเวียดนาม เช่น อุตสาหกรรมไฮเทคฯ อุตสาหกรรม New S-Curve อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น และต้องเร่งผลักดันโครงการ EEC ให้สำเร็จ และสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้ คือการเจรจากรอบความร่วมมือกับต่างประเทศ ที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้ง CPTPP และ FTA ในกรอบต่างๆ จะช่วยให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน และไม่เสียโอกาสในการทำการค้ากับหลายประเทศ”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3716 วันที่ 23 - 25 กันยายน 2564