ในงานสัมมนา “จับคู่กู้เงิน คลายทุกข์ SMEs” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (22 ก.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศอย่างชัดเจน โดยมั่นใจว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก หลังช่วง 7 เดือนแรก ไทยส่งออกได้ 154,985 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4.72 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16%
มั่นใจส่งออกโต 2 หลัก
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ภาคการส่งออกยังเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป อย่างน้อยปีนี้ ปีหน้าและเมื่อประเทศพร้อม การท่องเที่ยวฟื้น ตัวเลขรายได้ก็จะค่อย ๆ ขึ้นมาเติมเต็มได้มากขึ้น ทั้งนี้เป้าหมายการส่งออกปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนตั้งเป้าไว้เมื่อต้นปีจะทำให้ได้บวก 4% ซึ่งตอนที่ตั้งเป้าหมายก็นึกในใจกันว่า “หืดขึ้นคอ” แน่นอน
“มาถึงวันนี้เราทำได้เกินเป้า แค่ 7 เดือนแรกปี 2564 ทำได้บวก 16% มากกว่าเป้าหมาย 4 เท่า แต่ว่าเดือนสิงหาคม และกันยายนนี้คิดว่าตัวเลขอาจจะหย่อนหรือบวกน้อยลง แต่คงไม่ถึงกับติดลบ เพราะก่อนหน้านี้ไทยอยู่ในสถานการณ์ล็อกดาวน์ต้องปิดโรงงานบางส่วน ผลิตได้ไม่เต็มกำลัง การเคลื่อนย้ายสินค้า เคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด ข้ามพื้นที่ติดขัดบ้าง ล้งไปรับซื้อผลไม้ไม่ได้ กว่าจะแก้ได้ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ตัวเลขส่งออกก็อาจกระทบบ้าง แต่ถัดจากเดือนกันยายนก็คิดว่าตัวเลขจะดีขึ้น ซึ่งรวมทั้งปีก็เป็นไปได้ที่จะบวกสองหลัก เอกชนคาดว่าเป็นไปได้ กระทรวงพาณิชย์ก็คาดตามไปก็แล้วกัน แต่ว่าอย่างน้อยเกินเป้า 4% แน่นอน”
ลุยต่อจับคู่กู้เงินเฟส 2
สำหรับโครงการจับคู่กู้เงินใน 2 โครงการที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสถาบันการเงิน ในโครงการแรกคือจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับร้านอาหาร มี 5 สถาบันการเงินเข้าร่วมได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารกรุงไทย, SME D Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สามารถปล่อยกู้ให้ร้านอาหารได้ทั้งสิ้น 2,892 ราย วงเงินที่ได้รับอนุมัติ 2,622 ล้านบาท เฉลี่ย 7 แสนถึง 1 ล้านบาทต่อราย สามารถช่วยเหลือคนตัวเล็กได้จริง เพราะในวงเงินทั้งหมดที่ปล่อยกู้เป็นสตรีทฟู้ดหรือร้านอาหารริมทางรายย่อยถึง 2,111 ราย วงเงิน 1,914 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 73%
ส่วนโครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก มีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน./เอ็กซิมแบงก์) และบสย.เข้าร่วม สามารถปล่อยกู้ได้ทั้งสิ้น 252 ราย วงเงินได้รับอนุมัติ 1,600 ล้านบาท รวม 2 โครงการ ได้รับอนุมัติ 3,144 ราย วงเงิน 4,222 ล้านบาท ล่าสุดได้ขยายโครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ในเฟส 2 (ถึง 7 พ.ย. 64) คาดจะสามารถอนุมัติวงเงินให้ SMEs ส่งออกได้อีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
6 มาตรการสร้างพลังใหม่
อย่างไรก็ดีจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่มีอยู่ 3.1 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอีส่งออกประมาณ 3 หมื่นราย แต่มีสัดส่วนในการส่งออกของประเทศเพียง 11% ถือว่าน้อยมาก ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงต้องเข้าไปดูแล มี 6 มาตรการที่สำคัญคือ
1.จะนำสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อให้ช่วยสะท้อนปัญหาและจับมือกันเดินไปข้างหน้า 2.ผลักดัน SMEs ในต่างจังหวัดสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าสูงเพื่อทำรายได้ให้กับภาคการลิตและส่งออกมากขึ้นรวมถึงการส่งเสริมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นต้น
3.มุ่งเน้นการเปิดด่านเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนที่มีอยู่ทั่วประเทศ 97 ด่าน ที่ปิดไปจากผลกระทบโควิดปัจจุบันกลับมาเปิดได้แล้ว 46 ด่าน หากเปิดด่านได้มากเท่าใดคนที่ได้ประโยชน์คือเอสเอ็มอีซึ่งผู้ค้าชายแดน เกือบ 90% 4.การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ ให้จัดพื้นที่พิเศษกับ SMEs เช่น 10 ถึง 15% เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดและคู่ค้าได้มากขึ้น
5.เร่งส่งเสริมภาคบริการยุคใหม่ ทั้งเรื่องคอนเทนท์ การส่งเสริมภาคบริการสุขภาพการบริการด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดสตาร์ทอัพมากขึ้น และ 6. โครงการปั้น Gen Z เป็น CEO เพื่อสร้างแม่ทัพรุ่นใหม่บุกตลาดในประเทศและตลาดโลก โดยจับมือกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจัดอบรม ตั้งเป้าหมาย 12,000 คนในปี 2564 แต่มีผู้สมัคร 20,000 คน ซึ่งจะรับทั้งหมด
ดัน SMEs ส่งออกแสนราย
สอดคล้องกับนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า เอสเอ็มอีไทยมีมากกว่า 3.1 ล้านราย แต่พบว่ามีเพียง 1% หรือ 3 หมื่นกว่ารายที่สามารถเติบโตเป็นผู้ส่งออก ขณะที่อีก 99% ยังคงพึ่งพิงตลาดที่ไม่มีอนาคต ดังนั้นถึงเวลาที่เรือเล็กควรออกจากฝั่งโดยควรผลักดันเอสเอ็มอีให้เติบโตเป็นผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แสนราย
ทั้งนี้เอ็กซิมแบงก์อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศในการหาตลาดที่เติบโตใหม่ให้กับสินค้าและบริการของไทย เช่น เอเชียใต้ แอฟริกา และอเมริกาใต้ โดยทำการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการดึงให้เอสเอมอีเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจขนาดใหญ่ มีการเติมวงเงินและเติมความรู้
“ในโครงการจับคู่กู้เงินกับ SMEs ส่งออก ทางเอ็กซิมแบงก์ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 252 ราย คิดเป็นวงเงิน 1,600 ล้านบาท จากกรอบวงเงินรวมของโครงการ 2,500 ล้านบาท ซึ่งหากเต็มวงเงินโครงการก็พร้อมจะเติมเงินเข้าไปเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท”
ส่งออกสูงสุดรอบ 33 ปี
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกส่วนใหญ่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ต้องการเงินทุน ขอให้กระทรวงพาณิชย์หรือภาครัฐเร่งช่วยเหลือเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เวลานี้ถือเป็นช่วงจังหวะของการส่งออกไทยที่มีโอกาสจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากตลาดสำคัญ คือสหรัฐฯ จีน และยุโรปเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น คาดปีนี้ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ที่ 12% มูลค่าประมาณ 259,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 33 ปี (นับจากปี 2531)
“เวลานี้โอกาสมาถึง ไทยต้องเร่งดันส่งออก จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัว ค่าเงินบาท ณ วันนี้กว่า 33 บาทต่อดอลลาร์หาที่ไหนไม่ได้ ดังนั้นต้องเร่ง แต่เวลานี้ส่งออกกำลังเผชิญ 3 แพง คือ ค่าระวางเรือแพง ราคาวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันราคาแพง และค่ารักษาตัวรอดในโรงงานจากผลกระทบโควิดแพง ซึ่งแม้ผู้ประกอบการของเราจะมีจิตใจที่พร้อม โรงงานพร้อม การตลาดพร้อม แต่ขาดอย่างเดียวคือเงินทุน ขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ” ประธาน สรท. กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3717 วันที่ 26-29 กันยายน 2564