นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ลงนามในกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือกฎหมายเรียกรถรับจ้างผ่านแอปจำนวน5ฉบับ เรียบร้อยแล้ว ทำให้กรมการขนส่งทางบก มีความพร้อมที่จะเปิดให้ บริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นที่สนใจยื่นขออนุญาตและขอการรับรองจาก ขบ.ตั้งแต่วันนี้(1ต.ค.)เป็นต้นไป โดยกรมฯ จะใช้เวลาในการพิจารณาความถูกต้องภายใน 30 วัน หากผ่านการพิจารณาจะมีการเริ่มเปิดให้บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นได้ จะเริ่มให้บริการภายในเดือนพ.ย. นี้ เบื้องต้นจะมีแท็กซี่ป้ายดำสนใจเข้าร่วมแอพพลิเคชั่นราว 10,000 คัน ทั้งนี้กรมฯจะทำการประเมินความพึงพอใจจากประชาชนคู่ขนานกับไปด้วย
"แอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะมีการจัดระบบการเรียกรถไว้ตามหมวดหมู่โดยจะจัดให้รถแท็กซี่สาธารณะ อยู่ในอันดับแรก รองลงคือรถประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรถแท็กซี่ส่วนบุคคล ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เชื่อว่าจะมี บริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นที่สนใจยื่นเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจากการเปิดรับฟังความเห็นก่อนหน้านี้ พบว่ามี เจ้าของแอพลิเคชั่นจำนวน 6 บริษัทที่แสดงความสนใจ ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ ขบ. ขยายการจัดทำแอพพลิเคชั่นไปยังรถจักรยายนต์ด้วย"
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ผู้ที่สนใจต้องยื่นเรื่องขออนุญาตต่อกรมฯ เบื้องต้นต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนด เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย, มีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ,มีสถานที่ประกอบการในไทย, มีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎหมายของกรมการขนส่งทางบก จากนั้น ขบ จะใช้เวลาในการพิจารณาแอพลิเคชั่นหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์จะพิจารณาอนุญาตคาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1เดือน
สำหรับอัตราค่าโดยสารจะแบ่งออกเป็น3 ประเภท ตามประเภทของรถ ประกอบด้วย 1.รถยนต์รับจ้างขนาดเล็ก ระยะทาง2กิโลเมตรแรก 40-45 บาท ระยะทางเกินกว่า 2กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 6-10 บาท 2. รถยนต์รับจ้างขนาดกลาง ระยะทาง2กิโลเมตรแรก 45-50 บาท ระยะทางเกินกว่า 2กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 7-12 บาท และ3.รถยนต์รับจ้างขนาดใหญ่ ระยะทาง2กิโลเมตรแรก 100-150 บาท ระยะทางเกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 12-16บาท
ทั้งนี้ผู้ให้บริการแอพลิเคชั่นในไทยในปัจจุบัน เช่น บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (Grab) ทุนจดทะเบียน 2,879 ล้านบาท , บริษัท เพอร์พิล เวนเจอร์ จำกัด (Robinhood) ทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่(ประเทศไทย) จำกัด (Food Panda) ทุนจดทะเบียน 204 ล้านบาท , บริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด (Gojek) ทุนจดทะเบียน 104 ล้านบาท และบริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท เป็นต้น