อุทกภัยปี 2564 สถานการณ์เวลานี้ยังน่าห่วง กรมชลประทานรายงาน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 จากอิทธิพลร่องมรสุมและพายุดีเปรสชั่น (โกนเซิน) รวม 4 ลูก พัดผ่านหลายภาคของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. และลูกที่ 5 ล่าสุดคือพายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 36 จังหวัด (เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 13 จังหวัด และยังประสบอุทกภัย 23 จังหวัด) และมวลน้ำก้อนใหญ่กำลังไหลบ่าเข้าสู่ภาคกลาง ทำให้พื้นที่ชั้นในคือกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องเตรียมรับมือนั้น
พื้นที่เกษตรเสียหาย 2.5 ล้านไร่
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางการเกษตร ณ วันที่ 27 ก.ย. 2564 พบความเสียหายด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ในวงกว้าง เบื้องต้น ด้านพืช มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 184,946 ราย พื้นที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 2.56 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นนาข้าว 1.55 ล้านไร่ พืชไร่และพืชผัก 9.92 แสนไร่ และไม้ผลไม้ยืนต้น 1.79 หมื่นไร่
ด้านประมง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 14,398 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ(บ่อปลา,บ่อกุ้ง) 1.77 หมื่นไร่ กระชัง 816 ตารางเมตร และด้านปศุสัตว์ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 13,260 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 4.82 แสนตัว (โค-กระบือ 3.41 หมื่นตัว สุกร 1.41 หมื่นตัว แพะ-แกะ 2,336 ตัว สัตว์ปีก 4.82 แสนตัว) แปลงหญ้า 844 ไร่ (กราฟิกประกอบ)
“ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรในพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติ หลังน้ำลดจะมีการสำรวจความเสียหายโดยเจ้าหน้าที่เกษตร ปศุสัตว์ และประมงอำเภอ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำสู่คณะกรรมการระดับอำเภอ และจังหวัด เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนและผ่านการรับรองแล้ว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์จะส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯดำเนินการต่อไป ซึ่งจากกระบวนการสำรวจความเสียหายจนถึงอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบใหม่ไม่เกิน 90 วัน แต่ทางกระทรวงฯจะเร่งให้เร็วกว่านั้น ส่วนวงเงินทั้งหมดจะเป็นเท่าไรนั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนต้องรอให้น้ำลดก่อน ขณะที่กรมอุตุฯพยากรณ์ว่าจะมีมรสุมเข้ามาอีก 2 ลูกช่วงวันที่ 8 ตุลาคม และกลางเดือนตุลาคม คงต้องติดตามสถานการณ์รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อไป”
ทุบเศรษฐกิจสูญหมื่นล้าน
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยประเมินสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเวลานี้จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 5,000–10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงปลายปี ทั้งนี้สถานการณ์น้ำท่วมค่อนข้างรุนแรงในหลายจังหวัดกระทบต่อการเดินทาง และการขนส่งสินค้า รวมถึงภาคธุรกิจอีกหลายภาคส่วน
“น้ำท่วมเวลานี้ แม้สถานการณ์ยังไม่น่าไว้ใจในหลายจังหวัด แต่ประเมินแล้วคงไม่กระทบถึงขั้นทำให้จีดีพีปีนี้ติดลบได้ เพราะผลกระทบที่ทางหอการค้าไทย และม.หอการค้าไทยประเมินนั้นอยู่ที่ 5,000-10,000 ล้านบาท นับว่าไม่มากถึงขนาดจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพี (กกร.คาดจีดีไทยปีนี้ -0.5% ถึง 1%) แต่ปัจจัยน้ำท่วมรวมถึงสถานการณ์โควิดหากมีการระบาดของเชื้อไวรัสกลับมา ยังเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำท่วมคิดว่าคงไม่รุนแรงใกล้เคียงปี 54 แต่ทุกฝ่ายต้องไม่ประมาท ควรติดตามสถานการณ์และประเมินแผนรับมือให้ชัดเจน”
กรมชลประทานสั่งรับมือเต็มพิกัด
ขณะที่นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยยังน่าห่วง จากมีน้ำท่าปริมาณมาก จากลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทางกรมชลฯได้ปรับแผนระบายน้ำ ซึ่งความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเหมือนในปี 2554 มีน้อย เพราะเงื่อนไขต่างกัน โดยปี 2554 มีพายุหลายลูกถาโถมเข้ามา และเขื่อนด้านบนเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 4 เขื่อน (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์) เก็บน้ำในปริมาณมากและต้องเร่งระบาย ขณะที่ทั้งน้ำเหนือและน้ำฝนตอนบนโหมกระหน่ำลงมา
ต่างจากปีนี้ น้ำที่ทางกรมชลประทานระบายอยู่ส่วนใหญ่เป็นน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ ขณะที่น้ำในเขื่อนด้านบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังมีปริมาณน้ำไม่เกิน 50% ของความจุ (เช่น ภูมิพล สิริกิติ์) เวลานี้กรมชลฯอยู่ระหว่างจัดจราจรน้ำให้เข้าทุ่งรับน้ำต่าง ๆ ใน 10 ทุ่งรับน้ำ ทำให้บางส่วนของน้ำก็ไม่ได้ลงมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงการปรับการระบายน้ำลงน้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่นอกคันกั้นน้ำก็ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทราบเป็นระยะ โดยประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
“เท่าที่ทราบจากการพยากรณ์ของกรมอุตุฯต้องดูหลังวันที่ 8-9 ตุลาคมอาจมีพายุเข้าซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามสถานการณ์คงไม่รุนแรงอย่างปี 54 ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจจากเท่าที่ดูสถานการณ์ ทั้งนี้จะบริหารจัดการน้ำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด” นายประพิศ กล่าว
อนึ่ง กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานสถานการณ์น้ำท่วมต่อผลกระทบด้านการเกษตรช่วงค่ำของวันที่ 30 ก.ย. มีจังหวัดที่ได้รับได้รับผลกระทบแล้ว จำนวน 3.93 ล้านไร่ ใน 36 จังหวัด ในจำนวนนี้เป็นนาข้าว 2.44 ล้าน ไร่ พืชไร่และพืชผัก จำนวน 1.48 ล้านไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ จำนวน 1.84 หมื่นไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 2.98 แสนราย
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3719 วันที่ 3-6 ตุลาคม 2564