นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ชี้แจงกรณีที่ในสื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ประเทศไทยแพ้คดีปิดเหมืองทอง สูญเงินไทยเบ็ดเสร็จราว 70,000 ล้านบาทนั้น เป็นข้อมูลเท็จที่มีการเผยแพร่ซ้ำมาอย่างต่อเนื่องเป็นกระบวนการ ขอย้ำว่า การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์
ขณะนี้ ยังคงอยู่ในระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และยังไม่มีการออกคำตัดสินชี้ขาดใด ๆ พร้อมทั้งคู่พิพาททั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่ดำเนินการคู่ขนานไปกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
“ที่ผ่านมาในสื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ และข่าวลือที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับบริษัท คิงส์เกตฯ วนซ้ำหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง สันนิษฐานได้ว่าเป็นกระบวนการที่จงใจจะปล่อยข่าวเท็จเพื่อสร้างความสับสนแก่สาธารณชน โดยหากพบเจอข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าว ขออย่าเชื่อ และอย่าส่งต่อ เพื่อไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ”
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสากล ในการดำเนินการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างรอบคอบ รัดกุม และเป็นเอกภาพ
สำหรับแนวทางการเจรจายึดถือประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นหลัก ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมต่อประชาชน ชุมชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ สำหรับคดีเหมืองทองอัครา นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลพบว่า บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด จากออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาตรี หรือ ‘เหมืองทองอัครา’ เสนอข้อพิพาทต่อ ‘คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ’ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2560 โดยอ้าง Article 917 ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทยไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
โดย คิงส์เกต เรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยเป็นเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 22,500 ล้านบาท กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับการประกอบการกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน