ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ ยกระดับ "สมุนไพร" สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง งาน Thai Herb สร้างภูมิ เสริมเศรษฐกิจ สยบพิษโควิด ซึ่งจัดโดย NATION TV ว่ากระทรวงเกษตรได้ดำเนินการวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนสมุนไพรไทย 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.การส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตรงตามความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยนำหลักการตลาดนำการผลิตมาใช้
2.การพัฒนาอุตสาหกรรมและตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากลเป็นที่ยอมรับของตลาดในการแปรรูปทุกผลิตภัณฑ์
3.การส่งเสริมการใช้เพื่อการรักษาโรค เสริมสร้างสุขภาพ สร้างภูมิคุ้มกัน
4.การสร้างความเข้มแข็งทางด้านการบริหาร และนโยบายภาครัฐเพื่อให้การขับเคลื่อนสมุนไพรเป็นไปอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เชื่อว่า 4 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะส่งผลให้สมุนไพรไทยมีการเติบโตก้าวหน้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาอุปสรรคสำหรับประเทศไทยในการที่จะพัฒนาส่งเสริมสมุนไพรก็คือเกษตรกร โดยภาครัฐและเอกชน หรือผู้ผลิตสมุนไพรจะต้องช่วยสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผลิตสินค้าสมุนไพรที่มีคุณภาพ มีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ ซึ่งเชื่อว่าสมุนไพรไทยยังสามารถก้าวหน้าและมีการเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากที่ผ่านมาสมุนไพรไทยใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม แบบพื้นบ้านซึ่งทำให้ไม่สามารถสู้ทางด้านการตลาดกับสินค้าประเภทต่าง ๆ ได้
"ประเด็นดังกล่าวควรที่จะต้องเริ่มต้นพัฒนา โดยเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและเอกชนที่จะต้องลงไปสร้างความเข้าใจ สร้างความร่วมมือระหว่างกันและกัน เพื่อทำให้เกษตรกรไทยสามารถผลิตสมุนไพรที่มีคุณค่า มีความปลอดภัย และที่สำคัญที่สุดการผลิตสินค้าเกษตรต้องมีความคุ้มทุน หรือเกษตรกรต้องสามารถอยู่ได้"
ดร.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระแสของสมุนไพรกลับมาได้รับความนิยมและมีการนำไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแปรรูปเป็นอาหาร อาหารเสริมจนกระทั่งไปถึงการใช้รักษาโรค โดยมาพร้อมกับสภาวะที่ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (covid-19)ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการปลุกสมุนไพรขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
โดยขณะนี้ธุรกิจกิจเรื่องของสุขภาพและการกินดีอยู่ดี (health and wellness) ทั่วโลก ได้นำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาใช้มาแปรรูป และมีการเพิ่มอัตราการใช้และเพิ่มมูลค่าในทุกปีเช่นจีนมีอัตราการเจริญเติบโตการเพิ่มการใช้การบริโภคถึง 5% ,เกาหลีใต้เพิ่มเฉลี่ย 5.4% ขณะที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น 10% มากกว่าประเทศอื่น
อย่างไรก็ดี จากอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะต้องช่วยกันหาช่องทางในการเพิ่มมูลค่าให้สมุนไพรไทยทั้งในส่วนของภาคเกษตรกรและผู้ผลิตแปรรูปต่างๆ โดยมูลค่าของการบริโภคสมุนไพรไทยมีการเจริญเติบโตมาอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท ปี 2562 มีมูลค่าเป็น 5.2 หมื่นล้านบาท
"จะเห็นว่านี่คืออัตราการเพิ่มที่มีนัยยะสำคัญปัจจุบันนอกจากนำมาทำเรื่องของอาหาร ยารักษาโรค ยาที่จะมาสร้างภูมิคุ้มกันก็ยังมีการนำไปทำเวชสำอางนั่นก็คือการผลิตเป็นเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้คุณค่าสมุนไพรมีมากขึ้นและนำไปใช้มากขึ้น โดยปัจจุบันเครื่องสำอาง ยา อาหารมีมูลค่ารวมกันทั้งโลกประมาณ 91 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าการเจริญเติบโตจะเพิ่มขึ้นเป็น 166 พันล้านเหรียญสหรัฐภายใน 10 ปีหรือประมาณ 6.5% ต่อปี"
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกษตรกรเกิดความเข้มแข็ง จะต้องมีการจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจปลูกสมุนไพรแบบเต็มรูปแบบ เนื่องจากสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรมาระยะยาวก็คือเรื่องของเงินทุนทำให้เกษตรกรไม่สามารถที่จะพัฒนาหรือดำเนินการแปรรูปสมุนไพรให้ได้เหมือนกับประเทศอื่น โดยจะทำให้มีการปลูกแบบมีการควบคุมระบบเรื่องความปลอดภัย คุณภาพสารต่างๆและมีตลาดที่แน่นอนที่ชัดเจนให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้
นอกจากนี้ ก็จะต้องสนับสนุนเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเชื่อว่าสมุนไพรไทยที่มีจำนวนมากกว่า 100 ชนิดยังมีคุณค่าของสารต่างๆที่อยู่ในสมุนไพรมีจำนวนมากที่สามารถนำมาแปรรูปนำมาสกัดเพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรของไทย เช่น กรณีของกระท่อมที่ได้รับการปลดล็อกไปแล้ว ซึ่งกระท่อมมีสารหลายชนิดซึ่งทำได้มากกว่าการนำมารับประทาน หรือทำเป็นเครื่องดื่ม หรือทำเป็นยาขยันให้กับจะชาวไร่รับประทาน เพื่อให้สามารถทำงานได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกระท่อมยังมีสารชนิดหนึ่งที่มีลักษณะ คุณสมบัติเหมือนมอร์ฟีนแต่มีประสิทธิภาพมากกว่า หากมีการวิจัยพัฒนาต่างๆและสามารถนำสารต่างๆเหล่านี้มาใช้ได้ เชื่อว่านี่คือการเพิ่มมูลค่าของสมุนไพรและเป็นการเพิ่มอย่างยั่งยืน
"ในยุคที่มีการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง เพราะผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องของสุขภาพอนามัยมากขึ้น ใส่ใจเรื่องอาหาร ในการหาสมุนไพรหรือยามาสร้างภูมิต้านทานในการต่อสู้กับเชื้อโรค ไทยจะต้องฉกฉวยโอกาสจากการมรีสมุนไพรที่มีสรรถคุณในการตอบสนองตลาดเอาไว้ให้ได้ โดย้เฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่ให้ต่างชาตินำสมุนไพรไทยไปจดทะเบียนสิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์เป็นของตนเอง เพราะนี่คือของที่อยู่กับประเทศไทยมาโดยตลอดทุกคนต้องช่วยกันรักษาไว้ โดยเชื่อมั่นว่าสมุนไพรเป็นหนึ่งในตลาดโลกได้ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันและมีการเชื่อมโยงกันทั้งหมด"