วันที่ 7 ตุลาคม 2564 ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า วันนี้ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ Conference เพื่อเดินหน้าเตรียมแผนการขับเคลื่อนแก้ปัญหายางทั้งระบบ
"เนื่องจากที่ผ่านยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งเกิดจากการติดเงื่อนไขตั้งแต่ระดับนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาการทุจริต และปัญหาสถานการณ์การแพรระบาดโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบไปถึงเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่"
ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบครบวงจร และเกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานของสมาคมฯ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งผลงานสำคัญของสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ในการผลักดันแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านระดับคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2564 วันที่ 15 เมษายน 2564
โดยที่ประชุมได้ ให้มีการติดตามการขายยางในสต๊อกโครงการของรัฐบาลเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 104,763.35 ตัน โดยมติของคณะกรรมการสมาคมฯ ได้ทำหนังสือเสนอประธานคณะกรรมการ กยท. ผ่านผู้ว่า กยท. ขอให้พิจารณาข้อเสนอของสมาคมฯ แล้วดังต่อไปนี้
(1) ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฏหมาย (ถือครองบัตรสีชมพู) ได้รับสิทธิประโยชน์จาก กองทุนพัฒนายางพารามาตรา 49(3(4)(5) และ (6) คณะกรรมการฯ อนุมัติแล้ว
(2) ให้เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย (ถือครองบัตรสีชมพู) ได้รับสิทธิประโยชน์ในการสงเคราะห์ปลูกแทนจาก กองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (2) ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้คนอยู่กับป่า โดยใช้สิทธิ์ในฐานะเป็น “ผู้เช่า”ที่ดินจากรัฐ ตามความหมายในมาตรา 4 อยู่ระหว่างการพิจารณา
(3) ให้สมาคมฯ ได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกับ สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร ตามความหมายในมาตรา 4 ซึ่งในมาตรา 49(3)(6) กำหนดการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพารา เพื่อสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง
นอกจากนี้ที่ประชุมสมาคมฯวันนี้ยังได้เสนอให้มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชุดใหม่) พิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ พิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษา รวมทั้งการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้เองเพื่อสร้างเยาชนยางรุ่นใหม่ (smart young rubber) ซึ่งมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีสถาบันการศึกษา ร่วมดัวย
ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาให้มีการปรับนโยบายของสมาคมฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นฉบับปี 2564-2565 ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ
1. การวางแผนและพัฒนายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยให้มีการเชื่อมโยงทั้งการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตยางพาราของชาวสวนยาง ด้วยการแปรรูป โดยนำระบบที่ทันสมัย ทั้งอุปกรณ์ และการบริหารจัดการ มาพัฒนาชาวสวนยางที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ และชาวสวนยางทั่วไป
มีความอยู่ดีกินดีจากการขายยางในราคาที่เป็นธรรม ทั้งผลผลิตยางพาราต้นน้ำ และผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูป เพื่อให้มีรายได้เพิ่มจากการสร้างมูลค่ายางพารา และรายได้เสริมที่ไม่พึ่งพาการปลูกยางในเชิงเดี่ยวโดยสนับสนุนให้ปลูกพืชแซมหรือพืชร่วมยาง
2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวสวนยางได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับงานที่ทำอยู่แล้วให้มีการพัฒนายิ่งขึ้น อันเกิดประโยชน์แก่ชาวสวนยางที่เป็นสมาชิก สยท.และชาวสวนยางอื่นภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน
3. พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวสวนยางตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ โดยยึด กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีข้อบังคับ และระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้เสนอแนะข้อขัดข้องในการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข
4. สร้างช่องทางการตลาดให้กับผลผลิตยางพารา-ต้นน้ำ และผลิตภัณฑ์ยางกึ่งสำเร็จรูป-กลางน้ำ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป-ปลายน้ำ โดยเชื่อมต่อทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ โดยความร่วมมือขององค์กรภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อชาวสวนยาง
5. ร่วมแก้ปัญหากับทุกองค์กร ในขบวนการผลิต- ต้นน้ำ แปรรูป-กลางน้ำและปลายน้ำ และ การตลาดเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เกษตรกรชาวสวนยาง และร่วมแก้ปัญหาในธุรกิจยางพารา เพื่อมิให้ตลาดยางของไทยถูกกีดกันทางการค้า
6. เป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับของภาครัฐ การเมือง หรือเอกชน โดยยึดผลประโยชน์ของชาวสวนยางเป็นหลัก
ทั้งนี้ที่ประชุมได้เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนยางต่าง ๆ ที่ได้ร่วมประชุม และได้มีการเสนอการทำจัดทำยุทธศาสตร์ยางแผน 5-10 ปี เพื่อเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ รวมทั้งจะได้มีการการปลดล็อคเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดในการพัฒนายางพาราของประเทศไทย โดยจะได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป