ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีประชาชนรอบสนามบินกองบิน 23 อุดรธานี ร้องทุกข์ ได้รับผลกระทบทางเสียงจากการฝึกบินเครื่องบิน F-16 ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ มาเป็นเวลานานนับสิบปี กระทั่งคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร บรรจุเป็นญัตติเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ล่าสุดเมื่อปลายเดือนก.ย.2564 ได้มาลงพื้นที่และประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ห้องประชุมกองบิน 23 อุดรธานี
โดยมีนายปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบ ร่วมประชุมกับผู้แทนกองทัพอากาศ โดย น.อ.สุรศักดิ์ เสสะเวช ผบ.บน.23 ทำการชี้แจงถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
น.อ.สุรศักดิ์ฯ กล่าวว่า ได้ รับทราบประเด็นข้อทุกข์ร้อนความเดือดร้อน ที่เกิดจากการทำการฝึกบินเครื่องบิน F-16 ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ ที่ใช้สนามบินของกองบินที่ 23 อุดรธานี ซึ่งทางทอ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือเพิกเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ได้มีการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งในระยะสั้น คือ ปรับห้วงเวลาการบิน หลีกเลี่ยงผลกระทบสถานศึกษาและชุมชน เป็นวันละ 2 ช่วง เช้าขึ้น 08.30 น. ลง 09.40 น. บ่ายขึ้น 11.40 น. ลง 12.50 น. ในวันเปิดทำการของราชการ ปรับวิธีการบินขึ้น-ลง ให้ลดเสียงกระทบลง กำกับดูแลเส้นทางและความสูง หลีกเลี่ยงการบินผ่านชุมชน ชุมชนเมือง และร่วมกับทอ.สิงคโปร์ ทำกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ และ CSR กับชุมชนรอบ ๆ กองบิน 23
ส่วนระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันความเจริญขยายออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ เกิดมีชุมชน โรงงาน ฟาร์มหมู-ไก่ สถานศึกษา และกิจการเล็กใหญ่ต่าง ๆ รอบกองบิน 23 กลายเป็นเขตเทศบาล ที่ขยายพื้นที่เพิ่มเป็นถึงกว่า 47 ตร.กม ซึ่งก็ได้พยายามปรับเปลี่ยนเส้นทางบินใหม่ ๆ เพื่อลดมลภาวะและผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด รวมทั้งปรับพื้นที่การบินใหม่ ไปใช้พื้นที่กองบิน 1 นครราชสีมา หรือสนามบินกองบิน 2 ลพบุรี แทนในบางครั้ง
“กองทัพอากาศมีแผนปรับปรุงสนามบินน้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สนามบิน ที่กองบิน 23 รับผิดชอบอยู่ และมีรันเวย์ยาวเพียงพอ ให้เป็นศูนย์ฝึกบินขนาดใหญ่ ขณะนี้ได้เริ่มทยอยดำเนินการปรับปรุงบูรณะ อุปกรณ์สิ่งก่อสร้างอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สามารถใช้สอยได้ แล้วกองทัพอากาศก็มีแผนอีก 3-5 ปี จะย้ายการฝึกของกองทัพสิงคโปร์ไปที่นั่น ”
ด้านนายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.เพื่อไทย อุดรธานี และประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมร่วมกับกองทัพอากาศและหน่วยที่เกี่ยวข้อง ว่า ที่ผ่านมาในฐานะของ ส.ส.ในพื้นที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน หน่วยงาน สถานที่ราชการของจังหวัด ว่าได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบ จากภาวะเสียงดังจากเครื่องบิน F-16 ของกองทัพอากาศสิงคโปร์มานานหลายปี
เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จึงนำเอาปัญหาดังเข้าสู่ที่ประชุมของคณะ กมธ.ฯ เมื่อมี.ค.2564 เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กองทัพอากาศ กรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กรมควบคุมมลภาวะเป็นพิษ มาให้ข้อมูล และหาแนวทางแก้ไข
ล่าสุด จากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนหน่วยงานในพื้นที่ มีข้อสรุปที่เห็นแนวโน้มการแก้ไขปัญหาทั้งหมด โดยทางกองทัพอากาศมีแผนย้ายสถานที่ทำการฝึกบินของเครื่องบิน F-16 ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ จากสนามบินกองบินที่ 23 อุดรธานี จะไปใช้สนามบินน้ำพอง จ.ขอนแก่น แทน โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จใน 3-5 ปี เพราะต้องการเตรียมความพร้อมของสนามบินน้ำพองให้เรียบร้อย เนื่องจากไม่ได้ใช้งานสนามบินน้ำพองมาเป็นเวลานานแล้ว
นายศราวุธกล่าวอีกว่า แนวทางของกองทัพอากาศที่จะย้ายศูนย์ฝึกการบินไปอยู่ที่ใหม่ เป็นแนวคิดที่ดีและถูกต้อง เป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย เนื่องจากการมาใช้สนามบินกองบิน 23 ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงกับทางรัฐบาลไทยอย่างถูกต้อง แต่แม้ว่าจะถูกต้องก็ตามก็ต้องปฎิบัติตามกฎหมายไทย ในกรณีนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี แม้ว่าอาจจะใช้เวลา 3-5ปี อาจยาวนานไปสักหน่อย แต่ทุกกอย่างต้องใช้เวลา เพราะเป็นปัญหาที่เกิดมานาน
ทั้งนี้ กมธ.การต่างประเทศ จะติดตามการปฎิบัติของกองทัพอากาศต่อไป ว่าได้ดำเนินการตามที่ชี้แจงถึงแนวทางการแก้ปัญหาไว้หรือไม่ โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเดินทางลงพื้นที่ของสนามบินน้ำพอง เพื่อคอยดูแลติดตามการดำเนินการเป็นระยะ ๆ
ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จากที่คณะกมธ.ฯให้กรมควบคุมมลพิษ นำเครื่องมือมาตรวจวัดความดังของเสียง พบว่ามลภาวะทางเสียงระดับกลางอยู่ที่ 64-64 เดซิเบล และในระดับสูงเกินกว่า 100 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ จึงขอให้กรมควบคุมมลพิษติดตั้งเครื่องตรวจจับระดับเสียง จำนวน 4 จุด ได้แก่ที่ ร.ร.อนุบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม ร.พ..ค่ายประจักษ์ บริเวณวัดป่าบ้านถ่อน และ ร.ร.พิรักษ์รักษ์ รอบบริเวณสนามบินบินกองบินที่ 23
“จากที่ประชาชนและทุกหน่วยงานได้รับทราบว่า คณะ กมธ.การต่างประเทศฯ ลงมาดูแลหาทางแก้ไขร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ต่างดีใจที่ปัญหาที่มีมานานนานเป็น 10ปี จะได้รับการแก้ไขปัญหาเสียที ซึ่งทางคณะ กมธ.ต่างประเทศ จะให้ความเอาใจใส่ และทำให้จบด้วยความพึงพอใจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายของประชาชนชาวเมืองอุดรธานี แต่อาจจะไม่ได้รวดเร็วตามที่บางฝ่ายต้องการ แต่ต้องให้เวลา เพราะกระบวนการของคณะ กมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฏร ส.ส.เราไม่มีอำนาจไปสั่งการอะไรได้ ” นายศราวุธฯกล่าว
ด้านดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ในฐานะเทศบาลนครอุดรธานี เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบพื้นที่กองบินที่ 23 และสนามบินกองบิน 23 กล่าวว่า เทศบาลนครอุดรธานีได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ขอให้ทางกองบินที่ 23 ได้แจ้งตารางการฝึกบินของเครื่องบิน F-16 ให้ทางเทศบาลนครอุดรธานีทราบ และขอให้นักบินใช้ความเร็วต่ำเวลาบินผ่านเขตเมือง เขตชุมชน หรือเวลาบินขึ้น-ลง เพราะทางเทศบาลนครอุดรธานีได้รับการร้องเรียน โดยเฉพะผู้ที่อยู่อาศัยรอบ ๆ สนามบินกองบินที่ 23 และตามเส้นทางบินของเครื่องบน F-16 และบริเวนหัว-ท้ายสนามบินกองบินที่ 23 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะเสียงมากกว่าที่อื่น ถือเป็นโชคดีของชาวเมืองอุดรธานี ที่คณะ.กมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฏร เข้ามาลงมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว
“ลำพังเราเป็นเพียงหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้เอง เพราะเป็นปัญหาระหว่างประเทศ เมื่อมีโอกาสจึงให้เสนอความเดือดร้อนของประชาชนชาวเมืองอุดรธานี ให้แก่กองทัพอากาศผ่านคณะ กมธ. ไปตามภาระหน้าที่เท่าที่มีอยู่ และมีความยินดีและดีใจ ที่ปัญหานี้กำลังจะได้รับลงมือแก้ไขให้กับเมืองอุดรธานีในขณะนี้” ดร.ธนดรกล่าว