จากการติดตามสถานการณ์พายุที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จำนวน 2 ลูก ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนแล้ว และขณะนี้หย่อมความกดอากาศต่ำได้เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก
วันที่ 11 ตุลาคม 2564 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า “กอนช.” ประสานหน่วยงานเฝ้าระวังพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบตลอด 24 ชม. ในส่วนของพายุโซนร้อน “คมปาซุ” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์
จากการประเมินและวิเคราะห์โดย กอนช. พบว่า พายุนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย โดยคาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนาม ประมาณวันที่ 14 ต.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าด้วยอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศสูง พายุ “คมปาซุ” จะมีแนวโน้มอ่อนกำลังลงเช่นเดียวกับพายุ “ไลออนร็อก”
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 11-17 ต.ค. 64 คาดว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมมีกำลังแรงตลอดช่วง รวมทั้งในช่วงวันที่ 12-16 ต.ค. 64 คาดว่า ร่องมรสุมจะพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมจากพายุทั้ง 2 ลูก ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ภโดยฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือจะส่งผลดีในการเติมน้ำให้แก่แหล่งน้ำ อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำไม่มาก โดยคาดว่าปริมาณฝนจะตกไม่มากนักจนส่งผลกระทบซ้ำเติมในพื้นที่ซึ่งยังคงประสบปัญหาอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการติดตามสถานการณ์ในระยะนี้อย่างใกล้ชิด และภายหลังวันที่ 18 ต.ค. 64 ปริมาณฝนจะเริ่มลดลงตามลำดับ นอกจากนี้ กอนช. ยังได้ติดตามพายุโซนร้อน "น้ำเทิน" ซึ่งมีศูนย์กลางยังอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเคลื่อนตัวทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และวกกลับไปทางทิศเหนือ ซึ่งต้องประเมินทิศทางของพายุลูกนี้ต่อไป
“พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ โดยคำนึงถึงการเก็บกักน้ำในช่วงนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในช่วงฤดูแล้งถัดไปให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งเร่งช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้สถานการณ์คลี่คลายลงและกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว”
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลัง เครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อเข้าช่วยเหลือในแต่ละพื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งเร่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า อาทิ ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ. นครราชสีมา ร่วมกับ อบต.เสมาใหญ่ อ.บัวใหญ่ ใช้ชุดรถสูบส่งน้ำระยะไกล 10 กิโลเมตร เพื่อสูบน้ำจากลำห้วยวังชมพู ต.ดอนตะหนิน อ.บัวใหญ่
ซึ่งมีมวลน้ำจำนวนมากไหลผ่านเนื่องจากฝนตกหนัก ส่งไปเก็บกักไว้สำหรับช่วงฤดูแล้งปี 2565 ในหนองตาสุด บ้านหนองแจ้งน้อย หมู่ที่ 5 ต.เสมาใหญ่ อ.บัวใหญ่ สระเก็บน้ำสำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปา ปริมาณน้ำที่จะสูบกักเก็บไว้ 130,000 ลบ.ม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำดิบสำหรับใช้ผลิตน้ำประปาในฤดูแล้งต่อไป โดยถือเป็นการใช้ปริมาณน้ำจากสถานการณ์น้ำท่วมเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาทั้งปัญหาอุทกภัยควบคู่กับป้องกันปัญหาภัยแล้งด้วย
ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 64 มีพื้นที่ประสบสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ใน 33 จังหวัด 222 อำเภอ 1,185 ตำบล 8,056 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 323,523 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 17 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง พิจิตร
เพชรบูรณ์ ตาก กําแพงเพชร บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี ชัยนาท โดยยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 16 จังหวัด 64 อำเภอ 384 ตำบล 1,998 หมู่บ้าน 95,233 ครัวเรือน
ทั้งนี้ กอนช. ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี และจะมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมในอีก 16 จังหวัดที่เหลือโดยเร็วที่สุด
อนึ่ง “น้ำเทิน” (ลาว: ນ້ຳເທີນ; ชื่อแม่น้ำในประเทศลาว) เป็นชื่อพายุหมุนเขตร้อน ส่งโดยประเทศลาว หรือ สปป.ลาว