นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) และ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านในช่วงเช้าที่ประชุมสัมมนา และ ช่วงบ่ายในที่ประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) จังหวัดระยอง มีมติเห็นชอบร่วมกันในข้อสรุปในเรื่องแผนธุรกิจ กยท. อยากให้มีการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการบริษัทลูกให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 แล้วให้เร่งดำเนินการให้ได้ปี 2566
ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มีเจตนารมณ์ให้ กยท. เป็นกลไกและเครื่องมือเพื่อยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพราคายางพารามีบทบัญญัติตามมาตรา 9 และ 10 ซึ่ง กยท.สามารถตั้งบริษัทจำกัด บริษัทร่วมทุน และบริษัทมหาชนได้ โดยต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 65”
นายสุนทร กล่าวว่า ผมมีความเห็นว่า กยท.ควรตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยางพารา เช่น ไม้ยาง ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ระบบโลจิสติกส์ และผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องจากสวนยางยั่งยืน เช่น ร้านกาแฟ ผลิตภัณฑ์จากสวนยางยั่งยืน
“ถ้าจะทำธุรกิจปลายน้ำไม่ควรทำในสิ่งที่ภาคเอกชนเขาทำจนมี brand loyalty แล้ว ดังนั้นบริษัทลูก กยท.ควรทำอุตสาหกรรมยางที่มีนวัตกรรมขั้นสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยางทางการแพทย์ เอาเซรั่มยางมาทำเครื่องสำอาง เป็นต้น”
ทั้งนี้ กยท.มีจุดแข็งตรงที่มีเครือข่ายเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอยู่ในมือ มีงบประมาณ มีระบบการบริหารจัดการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เครือข่ายดังกล่าว ผลิตยางคุณภาพและมีมาตรฐานรับรอง รวมทั้งการทำยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน เพื่อให้เป็นสวนยางที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
วิธีการที่จะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ เพื่อหนีตลาดล่วงหน้าหรือตลาดกระดาษ ก็คือการเอาผู้ผลิตยางมาพบกับผู้ใช้ยางโดยตรง หรือการทำ spot market เพราะการลด supply chain ให้สั้นลงคือแนวทางการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง จากส่วนต่างของราคายางที่บวกเพิ่มขึ้น นับว่า เป็นข่าวดีที่กำลังจะเกิดขึ้นในวงการยางพาราไทย
อย่างไรก็ดี การจะทำตามข้อเสนอข้างต้นได้ การยางแห่งประเทศไทย ต้องมีบริษัทลูก ที่สามารถขายน้ำยางของเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ โดยมีนวัตกรรมมาช่วย เช่น การเอาน้ำยางธรรมชาติมาผสมสารตัวเติม(masterbatch) เพื่อผลิตเป็นยางล้อรถยนต์ ที่ช่วยลดพลังงานหรือลดต้นทุนการผลิต และคุณภาพยางดีขึ้นกว่าการทำยางคอมปาวด์ ปัจจุบันน้ำยางสดแบบนี้จะขายได้ในราคาบวกไม่น้อยกว่าห้าบาท
หรือ กยท. ต้องมีบริษัทลูกตั้งเป้าหมายการขายยางที่มีคุณภาพและมาตรฐาน อันสอดรับกับ (Sustainable Development Goals-SDGs) หรือ SDG และ BCG ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆกัน
นั่นก็คือการทำน้ำยาง Green ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์หลักที่จะทำให้ราคายางที่สูงขึ้นแบบไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย แต่เกษตรกรชาวสวนยางต้องเปลี่ยนแปลงความคิด(mindset) จากการทำสวนยางเชิงเดี่ยวมาทำสวนยางยั่งยืน และผลิตน้ำยางคุณภาพที่มีมาตรฐานการรับรองจากทุกระดับ
อนึ่ง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานราคายางพารา ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 ราคาประมูลเฉลี่ย ณ ตลาดกลางยางพาราฯ ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 53.15 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 56.00 บาท/กิโลกรัม ราคายางวันนี้ ในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศและราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น
ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงทางตอนใต้ของประเทศไทยมีฝนตกชุกและขาดแคลนแรงงานกรีดยาง อย่างไรก็ตาม ราคายางได้รับปัจจัยกดดันจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งยางซึ่งท้าให้ ต้นทุนค่าขนส่งมีราคาสูง และการขาดแคลนชิปที่ส่งผลกระทบ ต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ นักลงทุนยังคงต้องติดตาม เศรษฐกิจโลกต่อไป